สพฉ. หนุนท้องถิ่นสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์ฉุกเฉิน เปิดต้นแบบศูนย์กู้ชีพกู้ภัย เทศบาลนครรังสิต เน้นการบริการเชิงสร้างสรรค์ จัดอบรมให้ประชานรู้จักการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ช่วยกันดูแลชุมชนปลอดภัย พร้อมเร่งพัฒนาติดกล้องตามบ้านผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงเน้นการช่วยเหลือทันท่วงที
ในงานประชุมวิชาการภาคประชาชนครั้งที่ 2 ภายใต้หัวข้อ “ยุทธศาสตร์ตำบลปลอดภัย หัวใจการแพทย์ฉุกเฉิน” ที่จัดขึ้นโดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) นอกจากจะพูดคุยในเวทีวิชาการแล้ว ยังเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้แต่ละชุมชน นำเสนอวัตกรรรมใหม่ที่เกี่ยวข้องกับระบบการแพทย์ฉุกเฉินด้วย
หนึ่งในนั้นคือ ศูนย์กู้ชีพกู้ภัย เทศบาลนครรังสิต ที่มีการสร้างนวัตกรรมขึ้นมาตอบโจทย์ พัฒนาการช่วยเหลือและส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินไปรักษาโดยเร็วที่สุด นายณรงค์ชัย ปลื้มชัย พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ประจำศูนย์กู้ภัยเทศบาลนครรังสิต ระบุว่า ศูนย์กู้ชีพกู้ภัยเทศบาลนครรังสิต ก่อตั้งขึ้น ตั้งแต่ 2546 เพื่อให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉิน เนื่องจาก อุบัติเหตุ และการเจ็บป่วยฉุกเฉิน เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้นการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินโดยเร็ว จึงเป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งภายในเขตเทศบาลนครรังสิต มีทีมอาสาสมัครกู้ชีพที่มีความพร้อม มีรถกู้ชีพในเครือข่าย 15 คัน จอดรอสแตนบายตามจุดต่างๆ ตลอด 24 ชั่วโมง และรถกู้ชีพแต่ละคันก็มีความพร้อมทั้งเครื่องมือและอุปกรณ์ช่วยชีวิตประเภทต่างๆ ได้มาตรฐานของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ จึงมั่นใจได้ว่าทุกการปฏิบัติหน้าที่ จะดูแลประชาชนได้อย่างมืออาชีพ ตามหลักสากล ซึ่งนอกจากจะให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉิน ผู้ประสบอุบัติเหตุแล้ว ยังให้บริการครอบคลุมไปถึงผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยในกลุ่มเปราะบาง ในพื้นที่เทศบาลนครรังสิต ซึ่งทันทีที่มีผู้ป่วยฉุกเฉินโทรผ่านสายด่วน 1669 ศูนย์ควบคุมและสั่งการประจำศูนย์กู้ภัยเทศบาลนครรังสิต หรือ RCC จะสั่งการให้ออกไปช่วยเหลือผู้ป่วย ไม่เกิน 10 นาที ก็จะมาถึงที่หมายไปรับผู้ป่วย ส่งถึงโรงพยาบาลอย่างปลอดภัย
นอกจากนี้ที่ศูนย์กู้ชีพกู้ภัย เทศบาลนครรังสิต ยังให้บริการเชิงสร้างสรรค์ ให้คำปรึกษาการดูแลตัวเอง สอนการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ที่สำคัญ มีการจัดอบรมให้ทีมอาสา ทั้งเจ้าหน้าที่เทศบาล รถจักรยานยนต์รับจ้าง ประชาชนทั่วไป เด็กนักเรียน ให้รู้จักการปฐมพยาบาล โดยเฉพาะการใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจอัตโนมัติ (AED) เพื่อช่วยกันดูแลชุมชนให้ปลอดภัย
และล่าสุดมีการพัฒนานวัตกรรมการขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ซึ่งศูนย์กู้ชีพกู้ภัย จะทำการสำรวจกลุ่มผู้มีภาวะเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง หรือกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเปราะบาง จากนั้นจะนำกล้อง ไปติดตามบ้าน ถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นก็สามารถกดปุ่มแจ้งเหตุได้ทันที และสัญญาณนี้ก็จะดังมาที่ศูนย์กู้ชีพกู้ภัยด้วย ทำให้จัดรถกู้ชีพออกไปรับได้ทันท่วงที และระหว่างที่ไปช่วยเหลือจะสามารถเห็นภาพได้ด้วยว่าผู้ป่วยมีอาการเป็นอย่างไร คาดว่าน่าจะใช้ได้เต็มรูปแบบในปี 2562
ด้านนาย ขจรศักดิ์ ธีระทวีสุข นักวิชาการศูนย์ควบคุมและสั่งการประจำศูนย์กู้ภัยเทศบาลนครรังสิต หรือ RCC ระบุว่า สำหรับการออกปฏิบัติการแต่ละครั้ง หากมีผู้ป่วยฉุกเฉินโทรแจ้งผ่านสายด่วน 1669 ก็จะมีการสื่อสาร สั่งการผ่านระบบวิทยุกระจายให้หน่วยที่อยู่ใกล้ออกไปปฏิบัติการ นอกจากนี้ภายในศูนย์ยังมีระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินอื่นๆ