30 สิงหาคม 2563 : ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วย นางสุวรรณี คำมั่น ที่ปรึกษารัฐมนตรี อว. นายพรชัย ตระกูล วรานนท์ คณะทำงาน รมว.อว. และคณะผู้บริหาร อว. ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์นายแพทย์สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดร.ศุภชัย ปทุมนากูล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ศาสตราจารย์ ดร.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) นายพันธ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้อำนวยสำนักงานบริหารโครงการตามนโยบายฯ ร่วมประชุมหารือเชิงนโยบายร่วมกับผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน เกี่ยวกับความก้าวหน้าโครงการ อว.จ้างงาน ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 2019 (COVID -19) ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีผู้บริหารระดับสูงของสถาบันอุดมศึกษา 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน 18 แห่ง เข้าร่วมหารือ ได้แก่ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง อธิการบดีมหาวิทยาลัยพายัพ อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น และผู้แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยพะเยา วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอนวิทยาลัยชุมชนแพร่ มหาวิทยาลัยนอร์ทเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเนชั่น วิทยาลัยอินเตอร์เทคลำปางและวิทยาลัยเชียงราย
รมว.อว. กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2564 รัฐบาลคาดหวังให้ อว.เป็นกำลังให้กับรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศ เรื่องที่ถูกมองว่ากำลังเป็นปัญหาของประเทศ อว.เห็นว่าคือโอกาสที่จะทำงาน สถาบันอุดมศึกษาอย่าเล็งเพียงความเป็นเลิศด้านวิชาการ ซึ่งขณะนี้มีส่วนในการพัฒนาจังหวัด พัฒนาการศึกษาและการสาธารณสุขของประเทศ จากงบประมาณที่ได้รับจากรัฐบาลเพื่อขับเคลื่อนงาน อว. ในปี 2564 ขอฝากชาวมหาวิทยาลัยคิดและพัฒนาต่อยอดให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ใน 3 เรื่อง คือ
เรื่องแรก คือ เรื่องที่เกี่ยวกับนิสิตนักศึกษา อว.และสถาบันอุดมศึกษาจะเปิดโอกาสให้นักศึกษาแสดงความคิดเห็นในเรื่องการเมืองและมีส่วนร่วมกับประชาชนปรับปรุงแก้ไขไปในทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสม แต่ต้องไม่ก้าวล่วงและละเมิดบุคคลอื่น กิจกรรมนักศึกษาในนามมหาวิทยาลัยต้องให้สาธารณชนเห็นว่านิสิตนักศึกษามีความจงรักภักดีในฐานะคนไทยคนหนึ่ง เหมือนคนไทยทุกคน มหาวิทยาลัยต้องพัฒนาเยาวชนในทิศทางที่ตรงกับความสนใจกับเยาวชนไทยในยุคไซเบอร์ ทำให้เยาวชนได้เรียนรู้และซึมซับรากเหง้าของความเป็นไทย พร้อมๆ กับการเติบโตก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมที่จะนำพาประเทศไปสู่ความเข้มแข็ง รวมทั้งหารือกันว่าทำอย่างไรบัณฑิตจะเข้าสู่งานอาชีพใหม่และใช้ชีวิตในยุคเปลี่ยนแปลงของโลก่ได้อย่างมีความสุข
เรื่องที่สอง คือ ผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 2019 (COVID -19) อว.เห็นว่าเป็นโอกาสในการใช้ศักยภาพ อว.เข้าร่วมแก้ปัญหาให้รัฐบาลและประชาชนที่ได้ผลกระทบโดยตรงหลังโควิดด้วยโครงการ อว.จ้างงานประชาชนในพื้นที่ทำงานให้มหาวิทยาลัย จำนวน 400,000 คนเศษในปี 2563 ส่วนของบัณฑิตจบใหม่มีโครงการให้ทุนศึกษาต่อระดับปริญญาโท 100,000 ทุน ศึกษาต่อในสาขาที่ประเทศต้องการ เช่นการเกษตร อาหาร สาธารณสุข พลังงาน โลจิสติกส์ เพื่อชะลอการหางานทำของบัณฑิตจบใหม่ออกไป แรงงานระดับปริญญาที่อยู่ในระบบ จะมีการ Re-skill Up-Skill ด้วยหลักสูตรระยะสั้นเพื่อให้แรงงานปรับตัวให้ทันกับอาชีพใหม่
เรื่องที่สาม คือ นำศักยภาพของ อว.และสถาบันอุดมศึกษาไปพัฒนาทุกพื้นที่ของประเทศ เนื่องจาก อว.เป็นกระทรวงใหญ่ มีความพร้อมด้านองค์ความรู้ ควรเร่งกระจายองค์ความรู้และโอกาสเข้าช่วยพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ ผ่านคณะกรรมการบูรณาการเพื่อพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด โดย อว.มีแนวคิดจะให้ทุกมหาวิทยาลัยได้มีโอกาสลงพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ของรัฐบาล สนับสนุนการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน ด้วยการวิจัยและนวัตกรรมทางสังคม โครงการหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษา โครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านต่างๆ หน่วยงานสนับสนุนการสร้างและใช้ประโยชน์งานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อการยกระดับชุมชนสังคมและคุณภาพชีวิตคนไทย
จากนั้นในภาคบ่าย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผลการดำเนินการโครงการ อว.จ้างงานประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 2019 (COVID-19) ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ณ ชุมชนท้องถิ่นที่พัฒนาฐานข้อมูลทรัพยากรท้องถิ่นในพื้นที่เทศบาลตำบลสันผีเสื้อ อำเภอเมือเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
…………………………………………………………………..