สถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ เผยผู้ที่เป็นโรคเหงือกอักเสบ โรคปริทันต์อักเสบ สามารถจัดฟันได้ แต่ต้องรักษาให้หายก่อน โดยทันตแพทย์จะวางแผนรักษาให้ตั้งแต่เริ่มทำจนแล้วเสร็จ
นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคเหงือกอักเสบเป็นหนึ่งในโรคช่องปากที่ไม่ควรมองข้าม เพราะหากเหงือกไม่แข็งแรงฟันจะไม่มีฐานที่มั่นคงให้ยึด ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบติดเชื้อของเหงือกส่งผลกระทบต่อกระดูกและเนื้อเยื่อปริทันต์รอบ ๆ ที่ช่วยพยุงฟัน ทำให้เกิดอาการฟันโยก ฟันหลุด หรืออาจต้องถอนฟันในที่สุด ดังนั้นจึงต้องระวังเรื่องอาหาร และรักษาความสะอาดในช่องปากให้ดี แปรงฟันให้สะอาด ทั้งนี้โรคเหงือกบางชนิดสามารถละลายกระดูกรอบฟัน ทำให้เหงือกร่นเป็นรู เกิดความเสียหายอย่างถาวร และอาจเป็นโรคเหงือกรุนแรง จึงควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเร่งด่วน
ทันตแพทย์บุญชู สุรีย์พงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคที่เกิดกับเหงือกมี 2 โรคที่พบบ่อย คือ โรคเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์อักเสบ ซึ่ง 2 โรคนี้ไม่เหมือนกัน แต่เนื่องจากอาการจะเห็นชัดเจนที่เหงือก จึงมักเรียกกันว่าโรคเหงือก สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่พบว่าเป็นปัญหาที่พบบ่อยในคนไข้จัดฟันวัยผู้ใหญ่มากที่สุด ดังนั้นจึงต้องระวังโรคเหงือกดังกล่าว โดยเฉพาะโรคปริทันต์อักเสบ ซึ่งการจัดฟันในผู้ที่มีปัญหาโรคเหงือกสามารถทำได้ แต่ผู้ป่วยจะต้องได้รับการรักษาโรคเหงือกและอวัยวะรองรับฟันให้ดีเสียก่อน ทั้งนี้แผนการรักษาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคเหงือก ในกรณีที่มีฟันโยกมาก ๆหรือสูญเสียอวัยวะที่รองรับฟันไปมาก อาจจะต้องเลือกถอนฟันซี่นั้นออกไป และในกรณีที่จำเป็น ทันตแพทย์จัดฟันจะทำงานร่วมกับทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคเหงือก เพื่อรักษาและควบคุมสภาวะของเหงือกและอวัยวะรองรับฟันให้ดีตั้งแต่ก่อนเริ่มจัดฟัน ระหว่างที่จัดฟัน รวมทั้งหลังจากที่จัดฟันเสร็จแล้ว อย่างไรก็ตามภายหลังการจัดฟันควรดูแลความสะอาดสุขภาพช่องปากดังนี้ แปรงฟันทุกครั้งหลังทานอาหารและก่อนนอน ใช้ไหมขัดฟันทุกครั้งหลังทานอาหาร แปรงฟันโดยใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์เพื่อป้องกันฟันผุ ใช้แปรงสีฟันที่ออกแบบมาเฉพาะคนไข้จัดฟันซึ่งสามารถทำความสะอาดได้ง่ายและสะอาดกว่าการใช้แปรงสีฟันธรรมดา ควรขูดหินปูนร่วมกับการตรวจเช็คฟันผุทุก 6 เดือน หลีกเลี่ยงการเคี้ยวอาหารแข็งเหนียวกรอบ เช่น เคี้ยวก้อนน้ำแข็ง ปลาหมึก ถั่ว หมากฝรั่ง เพราะอาจจะทำให้เครื่องมือหลุดได้ หากทานอาหารที่ทานเป็นชิ้นใหญ่ ควรตัดแบ่งเป็นชิ้นให้พอดีคำ ไม่ควรใช้ฟันในการกัดแบ่ง และควรเลือกทานอาหารอ่อน โดยเฉพาะตอนที่เริ่มติดเครื่องมือหรือเปลี่ยนลวดใหม่ ๆ
******************************************
-ขอขอบคุณ-