“สิว” เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ของใครหลายคนที่ไม่อยากให้เกิด แต่ก็ห้ามได้ยากเหลือเกิน ด้วยปัจจัยหลายอย่าง ทั้งอารมณ์ อาหาร อากาศ ฮอร์โมน เครื่องสำอาง และการใช้ชีวิต ดังนั้นวันนี้เราจะมาดูกันค่ะว่า สมุนไพรพื้นบ้านใกล้ตัวของไทย มีอะไรบ้างที่สามารถช่วยเรารักษา และบรรเทาอาการ “สิว” ได้อย่างปลอดภัยกันบ้าง
- มังคุด
ได้ชื่อว่าเป็นราชินีของผลไม้ “Queen of the fruit” เปลือกมังคุด มีสาร mangostin ที่มีฤทธิ์ฝาดสมานผิว ฤทธิ์ลดอักเสบ และต้านเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิวและหนอง
มีการศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย P. acnes และ S. epidermidis ของสมุนไพรไทย 19 ชนิด พบว่าสมุนไพรที่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ P. acnes ได้ดีที่สุดคือมังคุดและพลูคาว รองลงมา คือฟ้าทะลายโจร ชุมเห็ดเทศ สาบเสือ (ยับยั้งเชื้อได้เท่ากัน)
ปัจจุบันในท้องตลาดมีผลิตภัณฑ์ดูแลสิวจากเปลือกมังคุดหลากหลายรูปแบบ เช่น เจลล้างหน้า เจลแต้มสิว
- ตำลึง
เป็นสมุนไพรท้องถิ่นที่พบได้ทั่วไปในประเทศไทย ภูมิปัญญาโบราณใช้ใบรักษาสิวและโรคผิวหนัง ใบตำลึง สรรพคุณแผนไทย ใช้บรรเทาอาการแพ้ อักเสบ จากแมลงสัตว์กัดต่อย หรือพืชพิษ
มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาในการต้านอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ และต้านเชื้อแบคทีเรีย
สารสำคัญ คือ สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ และ สารกลุ่มฟีโนลิก
สามารถเตรียมแบบง่ายตามการใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน โดยใช้ใบสดล้างให้สะอาด ตำให้ละเอียดผสมน้ำเล็กน้อย คั้นน้ำจากใบเอามาทาบริเวณที่มีอาการ
มีการศึกษาของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยามหิดลพบว่า สารสกัดใบตำลึงที่ความเข้มข้น 40 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร และตำรับเจลความเข้มข้น 4% โดยน้ำหนัก สามารถยับยั้งเชื้อ Staphylococcus aureus และ Propionibacterium acne และพัฒนาเจลใบตำลึงบรรเทาสิว
- หญ้าแห้วหมู (หญ้าหัวโจ๋ม)
จากภูมิปัญญาพื้นบ้านของชาวอีสานที่มีการรักษาสิว หรือแผลอักเสบ ฝีหนองด้วยการใช้หญ้าแห้วหมูตำและพอกบริเวณที่มีการอักเสบของสิว ข้อมูลหมอยาไทใหญ่ (ดอยไตแลง) ใช้หัวฝนกับน้ำซาวข้าว ที่เทเอาส่วนใสออกเหลือแต่ส่วนที่ขุ่นๆ นำมาทาหน้าหรือแต้มส่วนที่เป็นสิว
มีงานวิจัยพบว่าน้ำมันหอมระเหยจากแห้วหมูมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียได้ดี โดยเฉพาะแบคทีเรียแกรมบวก และสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์จากแห้วหมูมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ สมานแผล (wound healing)
- สะเดา
ตำรายาแผนไทยระบุว่า ใบอ่อน แก้โรคผิวหนัง นํ้าเหลืองเสียพุพอง มีฤทธิ์เย็น
การศึกษาในหลอดทดลอง พบว่าสะเดามีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนังได้หลายชนิด รวมถึงสิว คือ Staphylococcus aureus , Staphylococcus epidermidis , and Propionibacterium acnes มีการศึกษาวิจัยที่ประเทศอินเดียพบว่าสะเดาช่วยลดจำนวนสิวได้ ในอินเดียมีผลิตภัณฑ์รักษาสิวที่ทำจากสะเดาหลากหลายยี่ห้อ สะเดายังมีสารกลุ่มแทนนิน ที่มีฤทธิ์ฝาดสมานผิว เราสามารถทำยาแต้มสิวง่ายๆ โดยใช้ผงใบสะเดาผสมน้ำแต้มสิว
- บัวบก
โดดเด่นในเรื่องการสมานผิว สมานแผล ลดการอักเสบ สาระสำคัญ คือ asiaticoside, asiatic acid และ madecassic acid โดยมีผลเร่งการสร้างเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เพิ่มปริมาณคอลลาเจนและกรด uronic (ช่วยในการสมานแผลและเพิ่มความยืดหยุ่นของผิวหนัง) ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สาธารณสุขมูลฐาน) ใช้บัวบกรักษาแมลงกัดต่อย และรักษาแผล โดยใช้ใบขยี้ทาแก้แมลงกัดต่อย หรือใช้ส่วนใบสด พอกที่แผลสด วันละ 2 ครั้ง ในบัญชียาหลักแห่งชาติ สารสกัดเอทิลแอลกอฮอล์ (70 เปอร์เซ็นต์) ของใบบัวบกแห้ง [Centella asiatica (L.) Urb.] ร้อยละ 7 โดยน้าหนัก (w/w) ข้อบ่งใช้ ใช้สมานแผล โดยทำความสะอาดแผลด้วยยาฆ่าเชื้อก่อนทายา จากนั้นครีมบัวบกทาบริเวณที่เป็นแผลวันละ 1 – 3 ครั้ง หรือ ตามแพทย์สั่ง ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่แพ้พืชในวงศ์ Apiaceae (Umbelliferae) เช่น ยี่หร่า ผักชี ห้ามใช้ในผู้ที่มีประวัติเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง ห้ามใช้ในแผลเปิด
- มะขามป้อม
มีงานวิจัยพบว่าสารสกัดเอทานอลจากผลมะขามป้อม มีฤทธิ์ต้านเชื้อ Propionibacterium acnes ที่ทำให้เกิดสิว และต้านเชื้อ Staphylococcus aureus ที่ทำให้เกิดหนองได้ นอกจากนี้มะขามป้อมยังช่วยบำรุงผิว โดยมีผลทำให้ผิวขาว จากฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเมลานิน และยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส ที่สร้างเม็ดสีเมลานิน จึงน่าจะมีประโยชน์ในการนำมาใช้รักษาแผลเป็นหรือรอยดำหลังสิวหาย มีฤทธิ์ลดเลือนริ้วรอย ต้านความเสื่อมของผิว กระตุ้นการสร้างคอลลาเจน นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ป้องกันแสงแดด
- ขมิ้นชัน
นอกจากขมิ้นชันจะมีฤทธิ์บำรุงผิว รักษาแผล ลดผดผื่นคันแล้ว ยังมีส่วนช่วยในการรักษาสิวด้วย โดยมีการศึกษาในหลอดทดลองพบว่าขมิ้นชันมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนังได้หลายชนิด รวมถึงสิว คือ Staphylococcus aureus , Staphylococcus epidermidis , Propionibacterium acnes
- ว่านหางจระเข้
มีฤทธิ์เย็น ช่วยปลอบประโลมผิว ลดการอักเสบ ลดการระคายเคืองของผิว มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยพบว่าการกินน้ำว่านหางจระเข้วันละ 50 ซีซี ติดต่อกัน 1 เดือน ช่วยลดจำนวนสิวได้ คนที่ไม่เป็นสิวก็สามารถใช้ว่านจระเข้ในการบำรุงผิวได้ ทำให้ผิวชุ่มชื้น กระชับรูขุมขน ลดเลือนริ้วรอย
- น้ำมันรำข้าว
มีโอเมก้า 3 เป็นสาระสำคัญหนึ่งในน้ำมันรำข้าว ซึ่งการรับประทานเป็นประจำ จะช่วยลดการอักเสบของสิวได้ ดังนั้นผู้ที่เป็นสิวอาจลองหาผลิตภัณฑ์จากน้ำมันรำข้าวจมูกข้าว ที่ปลอดภัยมารับประทานกันดูได้ค่ะ
- เทียนเยาวพาณี
มีน้ำมันหอมระเหย คือ Thymol เป็นองค์ประกอบหลัก ซึ่งมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อก่อสิว Propionibacterium acnes ได้ดีมาก เมื่อเปรียบเทียบกับเทียนตาตั๊กแตน เทียนขาว มะแขว่น เหมาะที่จะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์รักษาสิวของไทยสู้กับ tea tree oil จากต่างประเทศ
นอกจากสมุนไพรทั้ง 10 ชนิดนี้แล้ว ยังมีการศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย P. acnes และ S. epidermidis ในหลายสมุนไพร พบว่าสารสกัดสมุนไพรที่มีแนวโน้มสามารถนำมาเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ยับยั้งสิวได้เพิ่มเติม คือ กระทือ ข่าลิง ว่านหอมแดง และ ฟ้าทะลายโจร และด้วยข้อมูลฤทธิ์ทางภสัชวิทยาของสมุนไพรที่ค่อนข้างดี ทางมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จึงได้พัฒนา เจลแต้มสิวสมุนไพร ที่ประกอบด้วยสารสกัด มังคุด แห้วหมู มะขามป้อม ว่านเปราะหอม เพื่อใช้บรรเทาอาการสิวอักเสบออกมาจำหน่ายตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน หรือท่านผู้อ่านที่มีอาการสิว และอยากลองใช้สมุนไพร ก็สามารถนำสมุนไพรใกล้ตัวมาประยุกต์ใช้กันได้นะคะ
ช่องทางปรึกษาสุขภาพกับอภัยภูเบศร
Facebook : สถาบันการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร
คลินิกออนไลน์ : @abhthaimed