ซีพีเอฟฝึกทักษะน้องบริหารจัดการผลผลิตเกษตรร่วมสร้างความมั่นคงทางอาหารใน รร. 

“ความมั่นคงทางอาหาร” ประเด็นที่ถูกยกระดับความสำคัญ โดยเฉพาะหลังสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด 19  ในส่วนของประเทศไทยเอง ทุกภาคส่วนตระหนักในเรื่องดังกล่าว  แม้แต่ในระดับโรงเรียนที่ได้รับการปลูกฝังให้มีส่วนร่วมสร้างความมั่นคงทางอาหารผ่านกิจกรรมด้านการเกษตรต่างๆ  ในโรงเรียน

น้องๆ นักเรียนโรงเรียนวัดอริยวงศาราม (หนองน้ำขาว) ตำบลดอนกระเบื้อง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี โรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียน 150 คน จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีโอกาสได้เรียนรู้และฝึกทักษะงานด้านเกษตร จากการที่โรงเรียนเป็น 1 ใน 80 โรงเรียน ที่เข้าร่วม “โครงการซีพีเอฟ อิ่ม สุข  ปลูกอนาคต” โครงการที่มุ่งมั่นมีส่วนร่วมส่งเสริมเด็กและเยาวชนไทยเข้าถึงอาหาร และยกระดับโรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านโภชนาการและอาหารของชุมชน ซึ่งสนับสนุนโดยบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด  (มหาชน) หรือซีพีเอฟ

ผลผลิตเห็ดนางฟ้าจากโรงเรือนเพาะเห็ด ผักบุ้งจีน ผักกวางตุ้ง และผักคะน้า จากแปลงผักบนดิน ถูกส่งเป็นวัตถุดิบเพื่อประกอบอาหารกลางวันของนักเรียน วัตถุดิบเหล่านี้ มาจากสถานีการเรียนรู้  5 สถานีด้านเกษตรในโรงเรียน ประกอบด้วย  สถานีแปลงผักบนดิน สถานีอุโมงค์ผัก สถานีเพาะเห็ด สถานีปุ๋ยหมัก และสถานีเลี้ยงไก่ไข่ โดยมีโรงงานผลิตอาหารสัตว์บกราชบุรี ของซีพีเอฟ นำขีดความสามารถขององค์กรและความรู้ในด้านการผลิตอาหารที่สะอาด ปลอดภัย  มีคุณภาพ  ความรู้ด้านการเกษตรมาประยุกต์ใช้ ต่อยอดสู่ชุมชนที่สนใจประกอบอาชีพด้านการเกษตร

วันนี้ ….น้องๆ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ ปีที่ 6 ซึ่งได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบโรงเรือนเพาะเห็ด ช่วยกันเก็บผลผลิตเห็ดนางฟ้าได้มากกว่า 10 กิโลกรัม ซึ่งมากกว่าทุกๆ วัน เด็กๆ นำผลผผลิตส่วนหนึ่งส่งเข้าโครงการอาหารกลางวันที่เหลือนำใส่ถุงเพื่อจำหน่ายให้ผู้ปกครองนักเรียนและชุมชน ถุงละครึ่งกิโลกรัม ราคา 20 บาท ผลผลิตอีกส่วนหนึ่งนำมาแปรรูปเป็นเมนูต่างๆ เช่น เห็ดนรก  เห็ดสวรรค์ น้ำพริกเห็ด ที่ได้เรียนรู้วิธีการทำมาจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านดอนกระเบื้อง

ความร่วมมือเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ยังมีหน่วยงานในพื้นที่ร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น และนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น เกษตรตำบลให้คำแนะนำเรื่องการปลูกผัก ปศุสัตว์ตำบลมอบอุปกรณ์ทำวัคซีนในการเลี้ยงไก่ สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดราชบุรีและหมอดินอาสาให้ความรู้การทำปุ๋ยหมักบำรุงดิน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านดอนกระเบื้องสอนเรื่องการแปรรูปอาหารเพื่อถนอมอาหาร เป็นต้น

ในด้านของซีพีเอฟนำนวัตกรรมมาเพิ่มประสิทธิภาพและช่วยแก้ปัญหาในกิจกรรมต่างๆ อาทิ การให้น้ำเพาะเห็ดด้วยการติดตั้งระบบรดน้้ำอัตโนมัติควบคุมการทำงานด้วยความชื้น ในกรณีที่ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำกว่า 80% ปั๊มก็จะทำงานโดยอัตโนมัติ ช่วยแก้ปัญหาก้อนเห็ดเน่าเสียไวจากการรดน้ำผ่านสายยาง และในวันหยุดที่ไม่มีคนรดน้ำเห็ด หรือในกิจกรรมทำปุ๋ยหมักที่มีปราชญ์ชาวบ้านนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาช่วยให้คำแนะนำ และซีพีเอฟใช้ท่อ PVC เจาะรูใส่ในกองปุ๋ยเพื่อที่จะไม่ต้องเสียเวลากลับกอง จากเดิมที่ต้องคอยกลับกองทุก ๆ 7 วัน และในกิจกรรมแปลงผัก ซีพีเอฟช่วยวางระบบท่อ ติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมเวลาการทำงานของปั๊มน้ำเพื่อรดแปลงผัก โดยตั้งเวลารดน้้ำครั้งละ 10 นาที ช่วงเวลา 08.00 น.และ  16.00น.

คุณครูกุลชญา ชั้นเล็ก หรือคุณครูเอ็ม คุณครูผู้รับผิดชอบโครงการปลูกผัก เพาะเห็ด เลี้ยงไก่ไข่ และแปรรูปอาหาร เล่าว่า เด็กๆ ได้เรียนรู้ทักษะอาชีพจากการลงมือปฏิบัติจริงและนำไปใช้ได้จริง จากสถานีการเรียนรู้ทั้ง 5 สถานีซึ่งมีซีพีเอฟและหน่วยงานในพื้นที่ให้การสนับสนุน หลังจากที่เปิดภาคการศึกษาใหม่ ซีพีเอฟได้นำก้อนเชื้อเห็ดชุดใหม่จำนวน 1,000 ก้อน ทดแทนก้อนเชื้อชุดเดิมที่หมดเชื้อและไม่ออกผลผลิตแล้ว  รวมทั้งเข้ามาซ่อมแซมโรงเรือนเพาะเห็ดให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน

“โรงเรียนเข้าร่วมโครงการซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลุูกอนาคต ทำให้ผลิตอาหารได้เอง และสามารถจัดเมนูอาหารกลางวันที่มีวัตถุดิบจากผัก เห็ด และไข่ไก่เป็นส่วนผสม เช่น ต้มยำเห็ด ผัดเห็ด  เห็ดทอด ยำเห็ด บะหมี่น้ำ สุกี้น้ำ นักเรียนเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ สะอาด ปลอดภัย เด็กนักเรียนที่มีภาวะโภชนาการสมวัยตามเกณฑ์ คือ มีน้ำหนักและส่วนสูงตามเกณฑ์  มีจำนวนเพิ่มขึ้น” คุณครูเอ็ม ซึ่งรับผิดชอบกิจกรรมปลูกผัก เพาะเห็ด และเลี้ยงไก่ไข่ กล่าว

นอกจากนี้  เด็กๆ ได้เรียนรู้การบริหารจัดการผลผลิต ไม่ให้มีผลผลิตเหลือทิ้ง หรือนำผลผลิตเห็ดที่เหลือ มาแปรรูปอาหาร  สร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์  มีทั้ง เมนูเห็ดสวรรค์ เห็ดนรก และน้ำพริกเห็ด ขนาดจำหน่ายกระปุกละ 20 บาท  และขนาดใหญ่ขึ้น จำหน่าย 3 กระปุก ราคา 100 บาท ซึ่งรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จะถูกนำมาใช้ต่อยอดกิจกรรมและโครงการต่างๆ ให้เกิดความยั่งยืนของโครงการต่อไป

ด.ญ.ชาลิสา  มาแดง อายุ  12 ปี นักเรียนชั้น ป.6 และเป็นประธานนักเรียน เล่าว่า หนูได้รับมอบหมายให้ช่วยดูแลรดน้ำผัก ดูแลโรงเรือนเพาะเห็ด เก็บผลผลิตเห็ด โดยจะแบ่งเวรกันกับเพื่อนๆ หนูเป็นเวรวันจันทร์และพฤหัสบดี เวลาที่ไปเก็บผลผลิตเห็ดก็จะมีเพื่อนๆ อีก 2 คนไปช่วยกัน เราแบ่งหน้าที่กันดูแลว่าในโรงเรือนมีเห็ดที่เน่าเสียหรือเปล่า ส่วนอีก 2 คนก็ช่วยกันเก็บผลผลิตเห็ด  การที่พวกเราได้ร่วมรับผิดชอบดูแลโรงเรือนเพาะเห็ด ทำให้มีทักษะหลายด้าน เช่น วิธีการเปิดปากก้อนเห็ด  การแคะก้อนเห็ด การเก็บเห็ดอย่างถูกวิธี  ที่นำไปใช้เป็นอาชีพได้

ด้าน ด.ญ.กุลชา โชคชัยอัมรินทร์ หรือน้องแตงโม นักเรียนชั้น ป.5 เล่าว่า เธอได้ช่วยพี่ๆ ชั้น ป.6  เก็บผลผลิตเห็ด  เก็บเห็ดที่เหี่ยวและเสียไปทิ้ง จากนั้นก็จะไปรดน้ำผักที่แปลงผัก เป็นกิจกรรมที่เธอได้รับมอบหมายให้ช่วยพี่ๆ ทุกวันอังคารและพุธ แตงโมบอกว่า

พวกเราได้บริโภคผักปลอดสารที่สะอาด ปลอดภัยจากผลผลิตที่เราช่วยกันปลูก ได้เรียนรู้เรื่องการถนอมอาหาร ในช่วงที่ผลผลิตเห็ดมากเกินไปด้วยการนำมาแปรรูป ซึ่งแตงโมมีหน้าที่ ล้างเห็ด หั่นเห็ด และทอดเห็ด  และได้เรียนรู้การทำบัญชีรายรับรายจ่าย จากการจดบันทึกปริมาณเห็ดสดและรายได้ที่จำหน่ายได้ในแต่ละวัน

วันนี้  … น้อง ๆ โรงเรียนวัดอริยวงศาราม (หนองน้ำขาว) ผลิตวัตถุุดิบที่จะนำไปประกอบอาหารกลางวันได้เอง  และยังได้ประโยชน์ไปถึงชุมชนได้บริโภคผลผลิตผัก ผลผลิตเห็ด ที่สะอาด ปลอดภัย  และราคาถูกกว่าท้องตลาดอีกด้วย

………………………………………………………