อพวช. มอบรางวัลการประกวดเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 5

องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย  สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และบริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด จัดงานมอบรางวัล “โครงการประกวดเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 5” โดย นายบุญอนันต์ กุนทรวรินทร์ ผลงานเรื่อง The assassination of a human candidate ได้รับรางวัลชนะเลิศ รุ่นเยาวชน นายพรศักดิ์ อุรัจฉัทชัยรัตน์ นามปากกา จัตวาลักษณ์ ผลงานเรื่อง Love is… AI  ได้รางวัลชนะเลิศ รุ่นประชาชนทั่วไป และนางสาวรติธรณ ใจห้าว ผลงานเรื่อง บริษัทจำหน่ายเวลา (ไม่จำกัด) ได้รางวัลชนะเลิศ สำหรับเด็กวัยรุ่น อายุ 12-18 ปี โดยในปีนี้มีเรื่องสั้นที่ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 14 เรื่อง จากผลงานส่งเข้าประกวด 315 เรื่อง โดยจะได้รับจัดพิมพ์เป็นผลงานรวมเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ เรื่อง “อ้อมกอดรักผู้พิทักษ์เวลา” โดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์

ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า อพวช. นอกจากจะเป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนที่ให้บริการด้านพิพิธภัณฑ์ ยังมีกิจกรรมและการแข่งขัน เพื่อให้เยาวชนมีความรักและสนใจในวิทยาศาสตร์  เช่น กิจกรรมการเขียนเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ในครั้งนี้ ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 5 เกิดจากความร่วมมือของภาครัฐ มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน แสดงให้เห็นถึงพลังของการมีส่วนร่วมในการให้ความสำคัญกับการเขียน การอ่าน โดยในปีนี้มีความพิเศษในการเพิ่มประเภทเยาวชน อายุ 12 -18 ปี เข้ามาแข่งขัน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้ใช้จินตนาการมาผนวกเข้ากับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และกลั่นออกมาเป็นเรื่องสั้นจนสามารถส่งเข้าประกวดในครั้งนี้ได้

คุณกนกวลี  พจนปกรณ์ กันไทยราษฎร์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า วรรณกรรมเป็นสิ่งสร้างแรงบันดาลใจ และส่งเสริมให้เยาวชนได้สื่อสารเรื่องวิทยาศาสตร์ได้มากขึ้น อย่างในช่วงแรก ๆ ที่จัดการประกวดแข่งขัน เนื้อหาที่ส่งเข้าประกวดค่อนข้างที่จะมีความจำเพาะเจาะจงในเรื่องวิทยาศาสตร์ จนมาถึงครั้งที่ 5 นี้ ปัจจุบันนักเขียนสามารถเชื่อมโยงเนื้อเรื่องเข้ากับชีวิตประจำวัน และผูกเข้ากับประเด็นสังคมมากขึ้น แทนที่จะออกไปนอกโลกอย่างเดียว ในฐานะผู้เขียนหนังสือเช่นกันรู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างมากหากผู้อ่านได้อ่าน แล้วสร้างแรงบันดาลใจให้รู้สึกรักวิทยาศาสตร์ขึ้นมา และหวังว่าการประกวดเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์จะยังคงได้จัดต่อไปเรื่อย ๆ

รศ.ดร.ภก. เนติ สุขสมบูรณ์  รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การประกวดเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ ถือเป็นโครงการที่ดีมีแนวคิดที่หลากหลาย โดยเฉพาะในปีนี้ได้เพิ่มประเภทการแข่งขันระดับเยาวชน อายุ 12 -18 ปี ซึ่งเยาวชนในช่วงอายุนี้ จะมีจินตนาการที่กว้างไกลแบบไม่มีข้อจำกัด หากเราให้เยาวชนได้ซึมซับได้อ่านและมีประสบการณ์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ต้น ต่อไปในอนาคตเยาวชนกลุ่มนี้ก็จะมีแนวคิดด้านวิทยาศาสตร์ที่หลากหลาย

สำหรับผลการประกวดเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ รุ่นเยาวชน รุ่นประชาชนทั่วไป และสำหรับเด็กวัยรุ่น อายุ 12-18 ปี รวมทั้งหมด 14 รางวัล ได้แก่

รางวัลเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ รุ่นเยาวชน รางวัลชนะเลิศ ผลงานเรื่อง “The assassination of a human candidate” โดย นายบุญอนันต์ กุนทรวรินทร์ รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ผลงานเรื่อง “ผู้แสวงหาความทุกข์”  โดย นายอภิสิทธิ์  บุญชู รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ผลงานเรื่อง “บนประเทศสีส้มคลีเมนไทน์” โดย นางสาวพัชรพร ศุภผล รางวัลชมเชย ผลงานเรื่อง “ในวันที่ท้องฟ้าเป็นสีพาสเทล” โดย นางสาวเนตรชนก ปลูกปานย้อย และผลงานเรื่อง “โบยบิน” โดย นางสาวรินรดา คงพิบูลย์กิจ

รางวัลเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ รุ่นประชาชนทั่วไป รางวัลชนะเลิศ ผลงานเรื่อง “Love is… AI”  โดย นายพรศักดิ์ อุรัจฉัทชัยรัตน์ นามปากกา จัตวาลักษณ์ รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ผลงานเรื่อง “จะออกไปกอดแมว” โดย นายนฤพนธ์ สุดสวาท รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ผลงานเรื่อง “The Executioner” โดย ณัฏฐ์ มฤศโชติ รางวัลชมเชย ผลงานเรื่อง “นักออกแบบภูมิทัศน์แห่งความตาย” โดย สุธี เหรียญถาวรจิต และผลงานเรื่อง “AWAKENING” โดย อนุสรณ์ นิมิตประทุม

รางวัลเรื่องสั้นแนวสำหรับเด็กวัยรุ่น อายุ 12-18 ปี  รางวัลชนะเลิศ ผลงานเรื่อง “บริษัทจำหน่ายเวลา    (ไม่จำกัด)” โดย รติธรณ ใจห้าว รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1  ผลงานเรื่อง “จงเป็นมนุษย์”  โดย นายกิตติศักดิ์ คงคา   รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ผลงานเรื่อง “Mars ดาวอังคาร” โดย คีตาญชลี แสงสังข์ รางวัลชมเชย ผลงานเรื่อง “เด็กหญิงนิทรา” โดย นางสาวอิษบู สายสิน

ผศ.ดร.รวินฯ กล่าวทิ้งท้าย เรื่องสั้นที่ถูกรวบรวมไว้ในหนังสื่อเรื่อง “อ้อมกอดรักผู้พิทักษ์เวลา” มีเนื้อหาสนุกสนาน สามารถนำไปต่อยอดเป็น ภาพยนตร์ การ์ตูน บอร์ดเกมส์ เพื่อเพิ่มความหลากหลายของการสื่อสารส่งเสริมให้สังคมไทยเป็นสังคมตื่นรู้ด้านวิทยาศาสตร์ต่อไป สำหรับผู้สนใจสามารถรอติดตามอ่านผลงานรวมเล่มได้ในเดือนกันยายน 2563 ที่ร้านขายหนังสือนานมีบุ๊คส์ ร้านขายของที่ระลึกของ อพวช. และในงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติ

———————————————–