รมว.อว. เปิดบ้านต้อนรับผู้นำนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฎ – ราชมงคล 47 แห่ง ย้ำ “เรื่องที่ทำไม่ใช่การเมือง เราทำเพื่อบ้านเมือง”

ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการ รมว.อว. และผู้บริหาร อว. เปิดบ้านต้อนรับผู้นำนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฎและมหาวิทยาลัยราชมงคล 47 แห่ง ระดมความคิด จัดกิจกรรมช่วยชุมชน รวมพลังสร้างงาน

เมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่อุทยานนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(NIA) ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.  การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดกิจกรรม Young TH Leader&Innovator Club นวัตกรรมเพื่อสังคม บทบาทสำคัญของผู้นำเยาวชนยุคใหม่ โดยมีผู้นำนักศึกษาและผู้นำเยาวชน 60 คนจากมหาวิทยาลัยราชภัฎและมหาวิทยาลัย  ราชมงคล 47 แห่งเข้าร่วม โดย ศ.ดร.เอนก ได้ทักทายผู้นำนักศึกษาและผู้นำเยาวชนอย่างเป็นกันเองและกล่าวสนับสนุนงานพัฒนาชุมชนด้วยบทบาทนักศึกษา ว่า ขอต้อนรับน้องๆ เยาวชนผู้นำนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฎและราชมงคล ทั่วประเทศ สู่บ้านของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ เมื่อปี พ.ศ. 2519 ผมได้รับเลือกตั้งเป็นนายกสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นช่วงเวลาที่ผมมีความสุขกับสิ่งท้าทายรอบตัว มีโอกาสคิด นำเสนอ และลงมือทำกิจกรรมหลายอย่างเพื่อพัฒนามหาวิทยาลัย เพื่อเพื่อน พี่ น้อง ของเราให้ได้เรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพและเติบโต ผมเชื่อว่า เป้าหมายในการทำงานของผู้นำอย่างเรา คงไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนักในรุ่นของผมกับรุ่นของน้องๆ ที่อยู่ในห้องนี้

รมว.อว. กล่าวต่อว่า โลกยุคปัจจุบัน คือ โลกยุคศตวรรษที่ 21 มีความยากและท้าทาย ต่างจากในอดีตมาก เนื่องจากลักษณะของการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบันมีลักษณะทั้งความผันผวน ความไม่แน่นอน ความสลับซับซ้อน ความคลุมเครือ ดังนั้น การปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก

“ในวันนี้ เราจะมาพูดคุยกันถึง กลไกต่างๆ ที่รัฐบาลโดยกระทรวงฯ ของเราจัดเตรียมไว้ให้น้องๆ ได้เข้าถึงและมาใช้ประโยชน์ในการคิดค้นพัฒนาโครงการต่างๆ ที่จะสร้างคุณค่าทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมให้กับชุมชน จังหวัดและประเทศของเรา ในฐานะผู้นำนักศึกษา เราสามารถนำไปขยายผลแนะนำเพื่อนๆ ในมหาวิทยาลัยให้ทราบถึงการสนับสนุนนี้ ให้เครือข่ายในมหาวิทยาลัยได้ร่วมมือกันหรือสามารถริเริ่มดำเนินการจัดตั้งเป็น Innovator’s Club ให้มีพื้นที่แลกเปลี่ยนรังสรรค์นวัตกรรมกันภายในกลุ่มนักศึกษา  โดยเราเตรียมกลไกต่าง ๆ ไว้ 3 ด้าน คือ 1.นโยบายการสนับสนุนนักศึกษา ผ่านโครงการยุวชนสร้างชาติ ซึ่งประกอบไปด้วย 3 โครงการสำคัญ คือ 1)โครงการยุวชนอาสา 2)โครงการบัณฑิตอาสา และ 3)กองทุนยุวสตาร์ทอัพ (Youth Startup Fund) เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชนในการมองปัญหาของชุมชนและหาแนวทางการแก้ไขที่สร้างสรรค์ พร้อมมีเงินทุนสนับสนุนในการดำเนินการ  2.นโยบายการสนับสนุนการศึกษาและพัฒนาทักษะในรั้วสถาบันการอุดมศึกษา โดยได้จัดให้มีการออกแบบหลักสูตรการพัฒนาทักษะในอนาคตที่สำคัญอย่างหลากหลาย จัดทำเป็นหลักสูตร Non degree ที่น้องๆ สามารถเลือกเรียนรู้ได้ตรงกับความต้องการในการนำไปใช้ในการพัฒนาความสามารถและอาชีพ มีโครงการ Future Skill New Career ที่จัดกลุ่มทักษะต่างๆ ที่เป็นที่ต้องการในภาคอุตสาหกรรม 8 สาขาที่เป็น s-curve ของประเทศและจัดอบรมให้กับน้องๆ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังได้รวบรวมเครือข่ายภาคธุรกิจการจ้างงานเพื่อนำเสนอโอกาสในการทำงานด้วยทักษะแห่งอนาคต และ 3.นโยบายความร่วมมือของหน่วยงานวิจัยและนวัตกรรมภายใต้กระทรวงฯ โดยมอบหมายให้หน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัด ไม่ว่าจะเป็นสถาบันวิจัย หรือองค์กรด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกันสนับสนุนองค์ความรู้ ผู้เชี่ยวชาญ งานวิจัย เทคโนโลยีชุมชน และเงินทุน เพื่อให้เยาวชนสามารถทำโครงการพัฒนาต่างๆ ได้ประสบความสำเร็จ อาทิ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA องค์กรนำด้านนวัตกรรมที่มีกลไกการสนับสนุนเงินทุนเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมให้เกิดขึ้นจริงได้ ซึ่งน้องๆ สามารถประยุกต์และสร้างสรรค์ผลงานบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีมิติของการประกอบธุรกิจนวัตกรรม ซึ่งน้องๆ จะได้เรียนรู้กันในกิจกรรมวันนี้และพรุ่งนี้ด้วย เพื่อสามารถนำเครื่องมือ STEAM4INNOVATOR ไปใช้วิเคราะห์ประเด็นปัญหาและคิดโครงการนวัตกรรมที่สร้างสรรค์ทำได้จริงและมีคุณค่าต่อเศรษฐกิจและสังคม” ศ.ดร.เอนก กล่าวและว่า

แน่นอนเมื่อน้องๆ คิดโครงการขึ้นมาได้แล้ว การสนับสนุนเงินทุนในกลไกลต่างๆ ที่พูดถึงข้างต้น โดยเฉพาะ Youth Startup Fund ที่ NIA ดูแลอยู่ เรามีเงินทุนตั้งต้นให้กับนักศึกษาในการทำโครงการธุรกิจนวัตกรรมให้เกิดขึ้นจริง เราต้องการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนไปสู่การเป็นผู้ประกอบการ นักพัฒนา สามารถต่อยอดแนวความคิดเพื่อสร้างธุรกิจจริงได้ เพื่อจะสร้างมูลค่าเพิ่มและคุณค่าใหม่ให้กับประเทศไทยในอนาคต  ในการนี้ ผมได้กำชับให้ ผศ.ดร.ดวงฤทธ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการ รมว.อว.ร่วมกับผู้บริหาร อว. ได้แก่ รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัด อว. ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผอ.สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ร่วมหาแนวทางในการสนับสนุนนิสิต นักศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น และภายใน 2 สัปดาห์นี้ อว. จะมีการจัดประชุมนักศึกษาทั่วประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการจัดกิจกรรมพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นการช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านต่อไป

กิจกรรม ครั้งนี้ เป็นการเปิดพื้นที่ให้น้องๆ เยาวชนได้มาทำความรู้จักกับพวกเรา ได้มาสร้างเครือข่ายเยาวชนระหว่างมหาวิทยาลัย และได้เรียนรู้กระบวนการสร้างแนวคิดในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ มีความสามารถในการมองประเด็นปัญหาอย่างเข้าใจลึกซึ้ง และสามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดและสร้างสรรค์ โดยขอเน้นย้ำว่า กิจกรรมวันนี้ไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เราทำเพื่อบ้านเมือง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่านี่จะเป็นอีกก้าวสำคัญของน้อง ๆ ในการเติบโตก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำยุคใหม่ Young TH Leader ของประเทศไทยในอนาคตครับ

…………………………………………….