พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะที่กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เปิดเผยว่า สถาบันอาชีวศึกษาของภาครัฐและเอกชนกว่า 900 แห่ง ดึงครูพิเศษจากสถานประกอบการมาให้ความรู้เพื่อสนับสนุนประเทศไทยให้ก้าวสู่ อุตสาหกรรม 4.0 และ 10 อุตสาหกรรม ใน EEC เพื่อฝึกและยกระดับนักศึกษาอาชีวศึกษาในสาขาต่าง ๆ ให้ทักษะฝีมือเพื่อพร้อมทำงานได้ทันที
“วิธีที่จะยกระดับการพัฒนาการศึกษาอาชีวศึกษาได้เร็วและเท่าเทียมกันทั้งประเทศ จำเป็นต้องจัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ซึ่งได้จัดตั้งไปแล้ว 6 ศูนย์ระดับภาค 18 ศูนย์กลุ่มจังหวัด และ 1 ศูนย์ใหญ่ที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา อีกทั้งมีการพัฒนาหลักสูตร ให้นำการเปลี่ยนแปลง และต้องมีสถานที่ฝึกงาน ซึ่งดำเนินการแล้ว โดยมีครูในสถานประกอบการ เป็นครูช่วยสอน และมีการดำเนินการประสานติดต่อโรงงานอุตสาหกรรม 4.0 โรงงาน 10 อุตสาหกรรม EEC เพิ่มเติม”
ทั้งนี้ การพัฒนาครูอาชีวศึกษา ต้องพัฒนาหลายรูปแบบ เช่น เรียนรู้เพิ่มเติม ทั้งในและต่างประเทศและรับสมัครผู้เชี่ยวชาญ ในอุตสาหกรรม 4.0 และ 10 อุตสาหกรรม ใน EEC หรือ ด้านภาษา ด้านธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นครูพิเศษ โดยให้สถานศึกษาอาชีวศึกษา ทั้งภาครัฐและเอกชน ได้เชิญไปสอนหรือบรรยายให้ความรู้ เพิ่มทักษะ ให้แก่นักศึกษาอาชีวะทั้งประเทศ เพราะการเรียนกับผู้มีประสบการณ์ตรง และมีความชำนาญการจะส่งผลให้นักเรียน นักศึกษาอาชีวะ มีทักษะที่ดีและมีความชำนาญมากขึ้น ซึ่งย่อมดีกว่าการเรียนในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว
ด้านนายกิตติพันธุ์ โรจนชีวะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา (ฝ่ายเศรษฐกิจและการศึกษา) กล่าวว่า ได้ประสานและนำนักอุตสาหกรรม พบรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์) เพื่อสมัครเป็นครูพิเศษ ผู้เชี่ยวชาญ ในการสอนวิชาชีพ เกี่ยวกับอุตสาหกรรม 4.0 และ 10 อุตสาหกรรมใน EEC เนื่องจากเราทราบกันดีว่าการก้าวขึ้นสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 นั้น รูปแบบการทำงานของหน่วยงานองค์กร ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ทำอย่างไรจะสร้างเครือข่ายร่วมกัน จังหวัดมองเห็นโอกาสและความร่วมมือนี้ จึงได้สนับสนุนอย่างเต็มกำลัง เพราะเชื่อว่า ครูที่มีประสบการณ์จะส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความรู้ ความชำนาญที่โดดเด่นและเก่งขึ้น
ด้าน ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวเสริมว่า การขึ้นทะเบียนครูพิเศษ อาชีวศึกษา ครั้งแรก เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยปัจจุบัน มีผู้ขึ้นทะเบียน ตรวจสอบพิจารณาคุณสมบัติแล้ว จำนวน 230 คน และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ซึ่งมีผู้ที่ขึ้นทะเบียน จำนวน 32 คน เน้นในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และใกล้เคียงเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก รวมทั้งสิ้นในขณะนี้ มีจำนวน 262 คน และมีผู้ที่ยื่นความจำนง และกำลังตรวจสอบคุณสมบัติกว่า 400 คน ทั้งนี้ เป้าหมายรวมทั้งประเทศ มีจำนวน 500 คน ซึ่งจะเพียงพอที่จะไปสอน บรรยาย ให้กับสถานศึกษาอาชีวศึกษาของเอกชนและรัฐบาลทั่วประเทศ กว่า 900 แห่ง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังเพื่อให้มีคุณภาพเท่าเทียมกัน
ครูพิเศษ อาชีวศึกษา คือ ผู้ประกอบการหรือผู้เชี่ยวชาญจากสถานประกอบการเกี่ยวกับอุตสาหกรรม 4.0 และ 10 อุตสาหกรรม ใน EEC ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ 10 อุตสาหกรรม หรือด้านภาษา กฎหมายการลงทุน ระบบบัญชี การเงิน การจัดการ ทรัพยากรมนุษย์ การตลาด การขาย ที่สามารถถ่ายทอดความรู้ให้แก่ บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน นักศึกษาในสังกัด สอศ. ซึ่งขั้นตอนการขึ้นทะเบียนครูพิเศษ อาชีวศึกษา สามารถทำได้โดยเข้าเว็บไซต์ http://gg.gg/bj2m2 หรือสแกน QR Code
สำหรับผู้ใช้ระบบปฏิบัติการ Android เข้า Google Play Store ค้นหาขึ้นทะเบียนครูพิเศษ EEC (EECTeacher) กดติดตั้ง หรือสแกน QR Code