คณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ จัดโครงการคณะพยาบาลศาสตร์ อาสาพัฒนาสังคม เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

คณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดโครงการคณะพยาบาลศาสตร์ อาสาพัฒนาสังคมในเขตหลักสี่  ๒ โครงการ  โครงการอบรมการกู้ชีพพื้นฐานและการส่งต่อผู้ป่วย สำหรับอาสาสมัครสาธารณสุขชุมชน(อสส.) เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และโครงการอบรมการกู้ชีพพื้นฐานและการปฐมพยาบาล สำหรับครูประจำห้องพยาบาลในโรงเรียนเขตหลักสี่ เพื่อเฉลิมพระเกียรติศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

กรุงเทพฯ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๓  : ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ รองศาสตราจารย์ ดร.ทัศนา บุญทอง คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นประธานเปิดโครงการคณะพยาบาลศาสตร์อาสาพัฒนาสังคม แก่ผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพ  ในการอบรมการกู้ชีพพื้นฐานและการส่งต่อผู้ป่วย สำหรับอาสาสมัครสาธารณสุขชุมชน(อสส.)  เขตหลักสี่ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และโครงการอบรมการกู้ชีพพื้นฐานและการปฐมพยาบาล สำหรับครูประจำห้องพยาบาลในโรงเรียน ในเขตหลักสี่ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและสืบสานพระปณิธาน ในศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

ด้วยคณะพยาบาลศาสตร์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้กำหนดให้ชุมชนหลักสี่เป็นพื้นที่หลักสำหรับการศึกษาภาคปฏิบัติการพยาบาลในชุมชนของนักศึกษา  เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านสุขภาพและให้บริการสุขภาพ  โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนในพื้นที่เขตหลักสี่ได้รับการดูแลสุขภาพอย่างทั่วถึง ครอบคลุม และมีคุณภาพตลอดจนพัฒนาให้ประชาชนในชุมชนมีศักยภาพในการดูแลด้านสุขภาพกันเอง เพื่อการป้องกันโรค สร้างเสริมสุขภาพ และลดภาวะเสี่ยงเมื่อเกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉินภายในชุมชนมากขึ้น

คณะพยาบาลศาสตร์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้แทนชุมชนทั้ง ๖๘ ชุมชน ครอบคลุม ผู้อำนวยการเขต พยาบาลประจำศูนย์บริการสาธารณสุข ๕๓ ทุ่งสองห้อง  สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร สมาชิกสภาเขต  ผู้นำชุมชน   และผู้แทนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๖๑  โดยเมื่อวิเคราะห์ปัญหาสุขภาพร่วมกันแล้วพบว่า ทักษะสำคัญประการหนึ่งที่ผู้แทนอาสาสมัครสาธารณสุขชุมชนจาก ๖๘ ชุมชน ต้องการคือ การกู้ชีวิตและการนำประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินส่งโรงพยาบาล สำหรับทักษะที่ครูประจำห้องพยาบาล จากโรงเรียน ๑๙ แห่งต้องการคือ การกู้ชีวิตเบื้องต้น และวิธีการปฐมพยาบาลเด็กนักเรียนเมื่อเจ็บป่วยในโรงเรียน

ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และความต้องการสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่มีต่อพสกนิกรไทยโดยเฉพาะด้านสุขภาพและความเป็นอยู่

คณะพยาบาลศาสตร์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยการสนับสนุนของเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ จึงได้จัดโครงการเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพทั้งสองกลุ่มครั้งนี้ขึ้น  ซึ่งการอบรมการกู้ชีพพื้นฐานและการนำผู้ป่วยฉุกเฉินส่งโรงพยาบาลสำหรับอาสาสมัครสาธารณสุขชุมชนจำนวน ๒๓๐ คน และ การอบรมการกู้ชีพพื้นฐานและการปฐมพยาบาลสำหรับครูประจำห้องพยาบาล ๗๐ คน ในชุมชนเขตหลักสี่ มีเป้าหมายให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถนำความรู้ไปใช้ในการช่วยเหลือ ประชาชน ครอบครัว นักเรียน บุคลากรในโรงเรียน และบุคคลในชุมชนที่เกิดการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินได้อย่างถูกต้อง ทันท่วงที ลดความสูญเสียและป้องกันความพิการที่อาจเกิดขึ้น

โครงการอบรมฯแบ่งออกเป็น ๓ รุ่น รุ่นละ ๑๐๐ คน มีเนื้อหาครอบคลุมการประเมินและตรวจสอบอาการป่วยที่เร่งด่วน ฉุกเฉินและเป็นอันตรายต่อชีวิต เช่น อาการเจ็บหน้าอก อาการเริ่มแรกของภาวะหลอดเลือดสมองแตก ตีบหรือตัน การกู้ชีพ ณ จุดเกิดเหตุ การใช้เครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้า การปฐมพยาบาลและการนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลเพื่อการรักษาที่เหมาะสม โดยอาจารย์พยาบาลผู้ทำการสอนทุกคนเป็นผู้มีความรู้ ความชำนาญและมีวุฒิบัตรการเป็นวิทยากรในการกู้ชีพขั้นสูงทุกคน

การอบรมครั้งนี้สอดคล้องกับนโยบายของ ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพของประชาชนในชุมชนเขตหลักสี่ ซึ่งเป็นชุมชนเมืองรอบราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยเฉพาะกลุ่มอาสาสมัครสุขภาพในชุมชนที่เป็นบุคคลที่อยู่ใกล้ชิดและเป็นผู้แทนด้านสุขภาพของคนในชุมชน และครูประจำห้องพยาบาลในโรงเรียนที่มีหน้าที่รับผิดชอบสุขภาพเยาวชนวัยเรียน ให้สามารถดูแลช่วยเหลือในด้านสุขภาพเบื้องต้น สามารถกู้ชีวิต ปฐมพยาบาลเบื้องต้นและส่งต่อ เพื่อให้ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างถูกต้อง ปลอดภัย และทันต่อเหตุการณ์

………………………………………………………