กรมการแพทย์เผยอายุที่เพิ่มขึ้น ใช้งานคอไม่ถูกต้อง เสี่ยงกระดูกคอเสื่อม

โรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ ชี้กระดูกคอเสื่อมเกิดจากความเสื่อมสภาพทางร่างกาย พบในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ถึงแม้มีอันตราย แต่หากใส่ใจและหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงสามารถลดความเสี่ยงได้

 

นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์  เปิดเผยว่า การนั่งทำงาน ด้วยท่าทางที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน เช่น นั่งก้มหน้า ยื่นคอไปข้างหน้ามากๆ นั่งหลังค่อม เล่นโทรศัพท์มือถือนานๆ ขับรถ  ตลอดจนการใช้งานคอผิดวิธี อาทิ นอนคว่ำอ่านหนังสือ เกร็งคอในท่าทางที่ผิดจากปกติเป็นเวลานาน เป็นพฤติกรรมที่ทำให้กระดูกคอเสื่อมเร็ว ทั้งนี้ โรคกระดูกคอเสื่อมมักไม่อาการแสดงให้เห็น แต่ผู้ป่วยอาจรู้สึกปวดบริเวณคอร้าวไปถึงไหล่หรือแขน รวมทั้งขยับหรือเคลื่อนไหวคอได้ไม่สะดวกเหมือนปกติ และจะเริ่มมีอาการรุนแรงตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น จนอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำ ซึ่งอาการของโรคกระดูกคอเสื่อมแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มอาการที่เกิดจากการเสื่อมของหมอนรองกระดูกและภาวะกระดูกคอโดยตรง ทำให้มีอาการปวดคอเคลื่อนไหวได้ยาก ปวดตรงกลางคอร้าวลงสะบัก และบริเวณไหล่ 2. กลุ่มอาการที่เส้นประสาทถูกกดทับ มีอาการปวดร้าวลงมาที่แขน มือ และมีอาการชาร่วมด้วย ถ้าปล่อยไว้อาจเป็นกล้ามเนื้ออ่อนแรง 3. กลุ่มอาการของไขสันหลังถูกกดทับ มีอาการอ่อนแรง เกร็งกล้ามเนื้อโดยเฉพาะขา ทำให้เดินลำบาก บางรายที่กระดูกคอมีกระดูกงอกอาจไปเบียดหลอดอาหารทำให้กลืนลำบาก หรือหากกดเส้นเลือด จะทำให้เวียนศีรษะ มีเสียงในหู โดยสาเหตุการเกิดโรคเกิดจากความเสื่อมสภาพร่างกายที่เป็นไปตามวัย โดยมักพบในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป การใช้งานในชีวิตประจำวัน เล่นกีฬาที่มีการกระแทก เช่น อเมริกันฟุตบอล หรือเล่นโยคะในท่าศีรษะลงพื้น เกิดอุบัติเหตุกระแทกที่กระดูกสันหลัง คอ โดยตรง การสูบบุหรี่ รวมถึงคนในครอบครัวมีภาวะกระดูกคอเสื่อม

นายแพทย์สมพงษ์ ตันจริยภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ กล่าวว่า การรักษา
โรคกระดูกคอเสื่อมขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ โดยแพทย์จะรักษาตามอาการเป็นหลัก เริ่มจากการใช้ยา การทำกายภาพบำบัด ประคบเย็นหรือประคบร้อน ใส่เฝือกคอ ฉีดยา และวิธีสุดท้ายคือการผ่าตัด ทั้งนี้หากปล่อยทิ้งไว้อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ โดยในกรณีที่เกิดแรงกดทับที่กระดูกสันหลังอย่างรุนแรง ผู้ป่วยอาจมีอาการชาหรืออ่อนแรงบริเวณ แขน ขา และเท้า มีปัญหาในการเดิน กลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่อยู่ นอกจากนี้ การที่กระดูกสันหลังหรือเส้นประสาทบริเวณคอถูกกดทับ อาจทำให้เกิดอาการปวดที่แขนข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง หากมีอาการรุนแรงขึ้นจะทำให้เส้นประสาทเสียหายอย่างถาวร อย่างไรก็ตามโรคกระดูกคอเสื่อมไม่สามารถป้องกันได้ เนื่องจากเป็นความเสื่อมสภาพทางร่างกาย แต่สามารถลดความเสี่ยงการเกิดโรคได้โดยระมัดระวังให้คออยู่ในท่าทางที่เหมาะสมขณะยืน นั่ง และเดิน เพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่คอ ออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายสม่ำเสมอ หากเล่นกีฬาที่มีความเสี่ยงควรสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันการบาดเจ็บบริเวณศีรษะและคอเสมอ ตลอดจนเลือกใช้หมอนที่รองรับสรีระของคอได้พอดี ไม่นิ่มหรือแข็งจนเกินไป