อาชีวะ มุ่งพัฒนาภาพลักษณ์ต่อเนื่อง สร้างความมั่นใจเรียนไปไม่ตกงาน

นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้มีการส่งเสริมภาพลักษณ์อาชีวศึกษา ทั้งในเรื่องการจัดการเรียนการสอน การทำกิจกรรมเพื่อสังคม ทำให้สาธารณชนเห็นความสำคัญของการเรียนอาชีวศึกษา ทั้งนี้ได้มอบให้ สถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ 1 ดำเนินการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการพัฒนาประชาสัมพันธ์และพิธีกรมืออาชีพ ณ วิทยาลัยเทคนิคนครศรีธรรมราช มีผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา เข้ารับการอบรมจำนวน 35 คน

เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวถึงเรื่องการอบรมนี้ว่า การจัดการเรียนการสอนของอาชีวศึกษา หัวใจสำคัญคือเรื่องของทวิภาคี เรียกว่าทวิภาคีคือลมหายใจของการเรียนอาชีวศึกษาก็ว่าได้ ดังนั้น การที่จะส่งนักเรียน นักศึกษา ออกไปฝึกประสบการณ์อาชีพในสถานประกอบการ จึงจะต้องมีการ เตรียมความพร้อมให้นักเรียน นักศึกษา ทั้งในเรื่องของการแต่งกาย การพูด การเขียนหนังสือ การบอกเล่าเรื่องราวของสถานศึกษา หรือสาขาวิชาที่เลือกเรียนให้บุคคลอื่นได้รับทราบ เรื่องเหล่านี้ล้วนแต่เป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับการอาชีวศึกษา สร้างความเชื่อมั่นให้เกิดกับผู้เรียน มุ่งสร้างผลิตกำลังคนด้านอาชีวศึกษา ให้ตอบสนองความต้องการของตลาด เป็นการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพอย่างเป็นรูปธรรม

ปัจจุบันบุคลากรอาชีวศึกษา มีภารกิจที่จะต้องทำหน้าที่ประสานงานกับชุมชน ต้องมีการพบปะพูดคุยในเวทีชุมชน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเรียนอาชีวศึกษา โดยเฉพาะบุคลาการที่ยังไม่มีประสบการณ์ เป็นเรื่องยากในการปฏิบัติ ทั้งการใช้คำพูด การกล่าวทักทาย การสร้างบรรยากาศ รวมถึงการแก้ปัญหาบนเวทีที่มีให้เห็นบ่อยครั้ง และการปรับบุคลิกภาพด้วย วิทยาลัยเทคนิคนครศรีธรรมราช สถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ 1 จึงได้จัดฝึกอบรมหลักสูตรการสร้างภาพลักษณ์ การเป็นพิธีกร เพื่อเป็นประโยชน์ทั้งในแง่การพัฒนาตนเอง ทั้งด้านการพูดและการพัฒนาบุคลิกภาพ รวมถึงการยกระดับการพูดบนเวทีในฐานะพิธีกรให้เป็นมืออาชีพต่อไปในอนาคต โดยนำภาพลักษณ์ใหม่ของอาชีวะ ออกเผยแพร่ สร้างการรับรู้อย่างกว้างขวาง ซึ่งจะเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับตัวเอง และนำไปถ่ายทอดให้นักเรียน นักศึกษาในสังกัดได้มีความรู้ ความสามารถเพิ่มขึ้น และมีความเป็นมืออาชีพ มีทักษะ สมรรถนะ

ตามมาตรฐานวิชาชีพ และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ตามความต้องการของชุมชน และสังคมต่อไป โดยมีบุคลากรของสถานศึกษา จำนวน 11 แห่ง ได้แก่ 1. วิทยาลัยเทคนิคชุมพร 2. วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี3. วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี 4. วิทยาลัยเทคนิคนครศรีธรรมราช 5. วิทยาลัยอาชีวศึกษานครศรีธรรมราช 6. วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช 7. วิทยาลัยเทคนิคทุ่งสง 8. วิทยาลัยเทคนิคสิชล 9. วิทยาลัยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการต่อเรือนครศรีธรรมราช 10. วิทยาลัยการอาชีพนครศรีธรรมราช 11. วิทยาลัยเทคนิคพัทลุง เข้ารับการอบรม

………………………………………………………..