สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นเจ้าภาพจัดประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูง ครั้งที่ 1 (Advanced Engineering Workshop I) ระหว่างวันที่ 16-17 กรกฎาคม 2563 ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ดึงสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ หวังพัฒนาบุคลากร สร้างเครือข่ายความร่วมมือและหาแนวทางพัฒนานวัตกรรมจากความเชี่ยวชาญของแต่ละหน่วยงาน ต่อยอดสู่อุตสาหกรรมขั้นสูงเชิงพาณิชย์ในอนาคต
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า การประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูงในครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งแรก เกิดจากความร่วมมือของ 3 หน่วยงานหลักที่มีภารกิจด้านวิทยาศาสตร์ขั้นแนวหน้า ได้แก่ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) แม้จะเป็นหน่วยงานชั้นนำที่มีภารกิจโดดเด่นแตกต่างกันออกไป แต่ภายใต้พันธกิจหลักมีการพัฒนาเทคโนโลยีในกลุ่มต่างๆ ที่คล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีวิศวกรรมระบบควบคุม เทคโนโลยีระบบทัศนศาสตร์ เทคโนโลยีด้านคลื่นความถี่วิทยุ หรือแม้กระทั่งการขึ้นรูปชิ้นงานความละเอียดสูง ซึ่งเป็นพื้นฐานของวิศกรรมขั้นสูง เราจึงหวังให้การประชุมนี้ เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ผ่านการนำเสนอผลงานการพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูงด้านต่าง ๆ ของหน่วยงานเจ้าภาพ เพื่อพัฒนาความองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญของบุคลากร อาทิ นักวิจัวิศวกร ช่างเทคนิค และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอันเป็นการสนับสนุนการวิจัยวิทยาศาสตร์ชั้นแนวหน้า หรือ Frontier Science ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเทคโนโลยีและพัฒนาบุคลากรของไทยต่อไปในอนาคต
ดร.ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดประชุมในครั้งนี้ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี มีผู้เข้าร่วมกว่า 150 คน นอกจาก 3 หน่วยงานหลักแล้ว เรายังเชิญหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย อาทิ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (NANOTEC) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สถาบันอุดมศึกษา วิทยาลัย อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษาและประชาชนที่สนใจเข้าร่วมรับฟังด้วย ซึ่งในช่วงประชุมและนำเสนอผลงานด้านเทคโนโลยี สดร. ยังจัดถ่ายทอดสดเผยแพร่ผ่านทางเฟซบุ๊คสถาบันวิจัยดาราศาสตร์อีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมพิเศษ นำผู้เข้าร่วมประชุม เข้าเยี่ยมชมห้องปฎิบัติการเทคโนโลยีขั้นสูงทั้ง 5 ด้านของ สดร. ได้แก่ ห้องปฏิบัติการแมคคาทรอนิกส์ ห้องปฏิบัติการทัศนศาสตร์ ศูนย์ปฏิบัติการดาราศาสตร์วิทยุ ห้องปฏิบัติการขึ้นรูปชิ้นงานความละเอียดสูง และห้องปฎิบัติการเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง ภายในอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ รวมถึง หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์แห่งชาติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร ใหญ่และทันสมัยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติ ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์วิทยุ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร แห่งแรกของอาเซียน ตั้งอยู่ภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่
การประชุมฯ ดังกล่าว นอกจากจะเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างหน่วยงานทั้ง 3 แล้ว ยังสร้างแรงบันดาลใจให้แก่หน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ และนักศึกษาในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง เกิดความความสนใจสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกัน ถือเป็นโอกาสอันดีและเป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมมือพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูงที่มีประสิทธิภาพมาก นอกจากนี้ เยาวชนและประชาชนที่มาร่วมงานหรือติดตามการถ่ายทอดสดการประชุมในครั้งนี้ ยังได้ทราบถึงความล้ำหน้าของเทคโนโลยีและวิศวกรรมของคนไทย และสิ่งสำคัญคือโอกาสในการเผยแพร่เทคโนโลยีขั้นสูงสู่บริษัทผู้ผลิต เพื่อให้บริษัทผู้ผลิตหันมาทำการผลิตและส่งออกในนามของสินค้าของไทยต่อไป
สำหรับการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูงนี้ มีกำหนดจัดขึ้น 3 ครั้ง โดยจัดหมุนเวียนเป็นเจ้าภาพการประชุมให้ครบทั้ง 3 หน่วยงาน โดยครั้งต่อไปกำหนดจัด ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จ.นครราชสีมา ในวันที่ 27 – 28 สิงหาคม 2563 และ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กรุงเทพมหานคร เป็นลำดับสุดท้าย ดร.ศรัณย์ กล่าวปิดท้าย
————————————————————–