วันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๖๑ คณะทำงานด้านสิทธิผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็ก การศึกษา และการสาธารณสุข ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการและการสัมมนาโครงการจัดทำข้อเสนอแนะและมาตรการการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชน เรื่อง “สิทธิเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา” โดยมีการเสวนาหัวข้อ “เด็กที่ถูกลิดรอนสิทธิและเสรีภาพ : โอกาส…สิทธิ..ที่ยังคงเหลือ” ณ โรงแรม อโนมา แกรนด์ กรุงเทพ ถนนราชดำริ กรุงเทพมหานคร
นางฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานด้านสิทธิผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็ก การศึกษา และการสาธารณสุข กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน ในจังหวัดต่าง ๆ ทำให้ตระหนักถึงปัญหาของเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งเด็กและเยาวชนเหล่านี้อาจก้าวพลาดไปด้วยความอ่อนด้อยของประสบการณ์ วุฒิภาวะ รวมทั้งสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ทำให้ช่วงหนึ่งของชีวิตต้องถูกควบคุมตัว อันส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กในทุกด้าน อย่างไรก็ดี แม้เด็กเหล่านี้จะได้รับการฟื้นฟูเป็นอย่างดีโดยกรมพินิจฯ และพร้อมกลับคืนสู่สังคม แต่ปัญหาการสืบค้นและเปิดเผยประวัติกระทำความผิดทางอาญาของเด็ก ได้ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของพวกเขาในอนาคตและทำให้ความพยายามของเด็กที่จะกลับคืนสู่สังคมด้วยการเป็นคนดีไม่เป็นผล โดยที่หลายคนต้องหวนไปกระทำความผิดซ้ำ
เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๐ กสม. ได้ออกรายงาน ข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการปรับปรุงกฎหมายและระเบียบ อันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิเด็กในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา กรณีการเปิดเผยประวัติการกระทำความผิดอาญาของเด็กและเยาวชน โดยเสนอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) พิจารณาแก้ไขระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ ๓๒ การพิมพ์ลายนิ้วมือ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๗ ในข้อกำหนดเกี่ยวกับการคัดแยกประวัติการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนและบัญชีทะเบียนประวัติของเด็กและเยาวชน โดยแยกจากของบุคคลทั่วไป เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๘๔ วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๒๔ รวมทั้งพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖ มาตรา ๒๒ ซึ่งเป็นที่น่ายินดีและชื่นชมว่า สตช. ได้แก้ไขระเบียบดังกล่าว โดยออกระเบียบว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ ๓๒ การพิมพ์ลายนิ้วมือ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๖๑ ลงวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๑ โดยระบุห้ามมิให้เปิดเผยข้อมูลประวัติอาชญากรที่คัดแยกออกจากสารบบไปแล้วตามที่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ เช่น กฎหมายว่าด้วยศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว กฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เป็นต้น โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกพื้นที่จะได้นำระเบียบนี้ไปปฏิบัติ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้กลับมามีที่ยืนในสังคมและประกอบอาชีพที่สุจริตต่อไปได้
นายเชวง ไทยยิ่ง ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนานักกฎหมายมหาชน สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า วันนี้สังคมต้องคิดกันว่าจะทำอย่างไรที่จะไม่ให้เด็กเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมถ้าไม่จำเป็น ดังที่อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี ระบุหลักการสำคัญไว้ว่าการนำเด็กเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมต้องเป็นกระบวนการสุดท้ายที่เลือกใช้ เนื่องจากที่ผ่านมาการใช้อำนาจรัฐไปกำหนดโทษทางอาญาไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาเด็ก เช่น เด็กขี่มอเตอร์ไซค์ซิ่งไม่ได้หยุดสร้างความเดือดร้อนจากการถูกตำรวจจับ แต่กลับยิ่งออกมาสร้างปัญหาเพื่อท้าทาย ขณะที่บางคนก็ติดอยู่กับตราบาปหรือประวัติอาชญากรที่ถูกเปิดเผยโดยไม่สามารถกลับคืนสู่สังคมได้ โดยที่การใช้อำนาจรัฐเข้าจัดการปัญหาเด็กยังได้ทำลายระบบบ้าน ครอบครัว และชุมชนไปโดยสิ้นเชิง จึงขอเสนอให้รัฐหันมาใช้กระบวนการจัดการปัญหาโดยชุมชนหรือส่วนท้องถิ่นที่มีความเข้าใจปัญหาและพฤติกรรมของเด็กในพื้นที่ให้มากขึ้น
นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เปิดเผยว่า จากการเก็บข้อมูลคดีเด็กและเยาวชนของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ระหว่างปี ๒๕๕๘ – ๒๕๖๑ พบว่า เด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดี ร้อยละ ๖๓ มาจากครอบครัวแยกกันอยู่ เช่น พ่อแม่หย่าร้าง โดยส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ไม่ได้เรียนหนังสือ และกว่าครึ่งมีฐานความผิดในคดียาเสพติด โดยมีงานวิจัยรับรองว่ายิ่งคนถูกควบคุมในสถานที่ควบคุมนานเท่าไหร่ โอกาสที่กระทำผิดซ้ำยิ่งสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว และการนำผู้กระทำความผิดเล็กน้อยไปควบคุมตัวปะปนกับผู้กระทำความผิดซับซ้อนรุนแรง แนวโน้มที่ผู้กระทำความผิดเล็กน้อยจะเรียนรู้พฤติกรรมจากผู้กระทำความผิดซับซ้อนรุนแรงย่อมมีมากขึ้น กรมพินิจฯ จึงให้ความสำคัญกับการคัดกรองและจำแนกเด็กตั้งแต่แรกรับตัวเข้ามาเพื่อทำแผนฟื้นฟูรายบุคคลโดยทีมสหวิชาชีพ นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการป้องกันปัญหาร่วมกับชุมชนเพื่อมิให้เยาวชนต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมด้วย
ด้านนางสุนันทา เตียสุวรรณ์ ประธานผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชนและครอบครัว จังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า ปัญหาเศรษฐกิจและความยากจนเป็นปัญหาสำคัญหนึ่งที่ทำให้เด็กต้องก้าวสู่การกระทำความผิด เนื่องจากพ่อแม่ที่ต้องทำงานหาเช้ากินค่ำไม่มีเวลาดูแลบุตรและให้การศึกษา โดยเฉพาะในกลุ่มครอบครัวแรงงานอพยพ อย่างไรก็ดี เมื่อเด็กเข้าสู่กระบวนการศาลของศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลจะมุ่งเน้นการบำบัด แก้ไข และฟื้นฟูเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเป็นหลัก โดยไม่เน้นการลงโทษ ซึ่งที่ผ่านมาศาลได้มีการส่งเด็กไปฝึกอาชีพในสถานที่ที่ห่างไกลจากพื้นที่ปัญหาโดยประสานความร่วมมือกับบริษัทให้ปกปิดประวัติของเด็ก หากเด็กสามารถทำงานได้และมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น ศาลจะพิจารณาลดโทษ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายท้ายที่สุดคือการส่งคืนเด็กดีกลับสู่สังคม
เผยแพร่โดย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ