นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า สหรัฐฯ เดินหน้าใช้มาตรการภาษีตอบโต้จีนเพิ่มเติมจำนวน 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หลังเสร็จสิ้นกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจกว่า 2 เดือนที่ผ่านมา และการเจรจากับจีนยังคงไม่ได้ข้อสรุปที่น่าพอใจสำหรับทั้งสองฝ่าย โดยเมื่อวานนี้
(17 กันยายน 2561) สหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีสินค้าจีนจำนวน 5,745 รายการ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในอัตราร้อยละ 10 บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2561 ก่อนปรับเป็นอัตราร้อยละ 25 ในวันที่ 1 มกราคม 2562 โดยคาดว่าจีนจะตอบโต้สหรัฐฯ เร็วๆนี้ ตามที่ได้ขู่ขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐฯ 5,207 รายการ ร้อยละ 5- 25 มูลค่ารวม 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในจำนวนรายการสินค้าที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนั้น สนค. ประเมินว่า ไทยยังมีศักยภาพส่งออกสินค้าทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯ หลายชนิด อาทิ สินค้าเกษตร เช่น ถั่วแห้ง แผ่นยางสดรมควัน ข้าวสี (rice milled) ยางแท่ง ผักผลไม้สด แช่แข็ง แช่เย็นและแปรรูป เช่น กล้วย เม็ดมะม่วงหิมพานต์ มะพร้าว ฝรั่ง มะม่วง มังคุด มะละกอ สับปะรด เป็นต้น อาหารทะเลแช่แข็ง และแปรรูป อาทิ ปลาทูน่าบิ๊กอาย (Big Eye Tuna) ปลาทูน่าท้องแถบ (Skipjack tuna) ปลาทูน่าครีบเหลืองสดและแช่แข็ง (Yellowfin tuna) เนื้อปลาแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ อาทิ น้ำผึ้งธรรมชาติ อาหารปรุงแต่งและเครื่องดื่ม อาทิ อาหารสุนัข/แมวสำหรับขายปลีก เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (ที่ไม่ใช่น้ำผลไม้) เคมีภัณฑ์และเม็ดพลาสติก อาทิ กรดซิตริก ยานยนต์และส่วนประกอบ อาทิ เครื่องยนต์สันดาปภายใน ยางรถยนต์ (Pneumatic Radial tyres) โดยสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออกทดแทนสินค้าจีนสูง ได้แก่ ข้าวสี ยางแท่ง มะพร้าว ฝรั่ง มะม่วง มังคุด น้ำผึ้งธรรมชาติ กรดซิตริก เครื่องยนต์สันดาปภายใน ทั้งนี้ สหรัฐฯ ได้ตัดสินค้าออกเกือบ 300 รายการ (มูลค่าประมาณ 1,064 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ออกจากรายการเดิมที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) เสนอไว้ 6,031 รายการ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยอ้างเหตุผลเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภคและความจำเป็นต่ออุตสาหกรรมการผลิต และส่วนใหญ่เป็นสินค้า 1) อิเล็กทรอนิกส์ในชีวิตประจำวัน อาทิ นาฬิกาอัจฉริยะ(Smart Watches) อุปกรณ์บลูทูธ (Bluetooth Devices) 2) เคมีภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการผลิต อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม และการเกษตร และ 3) อุปกรณ์เพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค เช่น หมวกกันน็อก ที่นั่งสำหรับเด็ก (Car seats)คอกสำหรับปล่อยให้เด็กเล่น (Playpens)
นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวเพิ่มเติมว่า สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ยังไม่มีทีท่ายุติในระยะอันใกล้ โดยมีแนวโน้มทวีความรุนแรง และมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม สนค. ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อสถานการณ์ดังกล่าว โดยในวันที่ 18 กันยายน 2561 สนค. ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญทั้งจากหน่วยงานรัฐ ภาควิชาการ และความมั่นคง ร่วมหารือแนวทางการดำเนินยุทธศาสตร์การค้า เพื่อกำหนดจุดยืน (Position) ที่เหมาะสมของประเทศไทยในห้วงสงครามการค้า และการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางการค้า (Trade) การลงทุน (Investment) ภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) เพื่อให้ได้ข้อมูลทั้งภาพกว้าง อาทิ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และข้อมูลเชิงลึก อาทิ ประเด็นด้านความมั่นคง โดยมีผู้เชี่ยวชาญฯ เข้าร่วมการหารือในครั้งนี้ ได้แก่ รศ. ดร. สมเกียรติ โอสถสภา คณะทำงานด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคง สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ รศ. ดร. ชโยดม สรรพศรี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ. ดร. ปิติ ศรีแสงนาม ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมการค้าต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองใน 2 ระดับ คือ แนวทางการดำเนินยุทธศาสตร์มหภาคในภาพกว้าง และแนวทางการรับมือสงครามการค้า
ความเห็นที่น่าสนใจจากการหารือรอบนี้ เช่น ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับประเด็นหลายๆ ด้านประกอบกัน โดยเฉพาะการหาพันธมิตรในโลกการค้าปัจจุบันเป็นสิ่งที่สำคัญ ประเด็นความมั่นคงจะมีความเชื่อมโยงกับนโยบายเศรษฐกิจมากขึ้น และไทยควรจะใช้โอกาสจากการเป็นประธานอาเซียนในปี 2562 เพื่อเสริมสร้างกลไกที่อาเซียนมีอยู่แล้วให้เข้มแข็งมากขึ้นเพื่อให้อาเซียนสามารถรับมือกับภูมิรัฐศาสตร์โลกในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงได้ ในส่วนของเศรษฐกิจไทยนั้น นักวิชาการเห็นพ้องกันว่า เบื้องต้นต้องเน้นการรักษาความมีเสถียรภาพ (Stability) ก่อน ซึ่งคิดว่าไทยสามารถทำได้ดี เพราะมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง เป้าหมายต่อไปต้องสร้างความเชื่อมั่นทั้งในประเทศและในสายตานักลงทุนต่างชาติ รวมทั้ง ต้องเน้นย้ำจุดแข็งความเป็น world class ของไทยในด้านต่าง ๆ ในขณะเดียวกัน การดำเนินนโยบายการค้าระหว่างประเทศควรต้องคำนึงถึงการกระจายผลประโยชน์ไปถึงเศรษฐกิจฐานราก (Local economy) ให้ต่อเนื่องมากขึ้นเพื่อสร้างความเสมอภาคทางเศรษฐกิจด้วย
ผอ. สนค. กล่าวทิ้งท้ายว่า สนค. จะจัดประชุมในลักษณะนี้อีกเพื่อหารือในวงกว้างมากขึ้น เพราะนอกจากประเด็นสงครามการค้าแล้ว ประเทศไทยยังเผชิญกับความไม่แน่นอนต่างๆ ที่แต่ละภาคส่วนควรให้ความสำคัญ อาทิ วิกฤตเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging market) และเรื่องความไม่แน่นอนทาง ภูมิรัฐศาสตร์โลกโดยต้องมีมุมมองเชิงกว้างจากการเปลี่ยนแปลงของโลก รวมทั้งมองไปในอนาคตเพื่อเตรียมรับมือกับยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4IR) ที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว