พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผยตั้งแต่ปี 2552 ที่ส่งเสริมการมีงานทำให้กับคนพิการ กระทรวงแรงงานยังไม่เคยได้รับการร้องเรียนเรื่องการทุจริตเงินคนพิการแต่อย่างใด พร้อมย้ำขณะนี้สั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีข้อกล่าวหาการทุจริตเงินคนพิการตามมาตรา 33 และ 35 แล้ว โดยให้เห็นผลภายใน 15 วัน
พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่าจากกรณีที่นายปรีดา ลิ้มนนทกุล ประธานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิคนพิการ ได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิและปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมกับคนพิการตามมาตรา 33 ที่กำหนดให้มีการจ้างงานคนพิการ แต่ปรากฏว่าตัวเลขการจ้างงานไม่ตรงกับสิทธิของคนพิการจริง และมาตรา 35 ที่เกิดการทุจริตในส่วนของการฝึกอบรมให้กับคนพิการ ซึ่งสร้างความเสียหายถึง 1,500 ล้านบาทต่อปีนั้น เกี่ยวกับเรื่องนี้ กระทรวงแรงงานมีภารกิจที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมการมีงานทำให้คนพิการ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2556 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คือ
1. จัดหางานให้คนพิการมีงานทำตามมาตรา 33 คือ สถานประกอบการต้องรับคนพิการเข้าทำงานสัดส่วน 1: 100 คน หากเกิน 50 คน ต้องรับเพิ่มอีก 1 คน ซึ่งคนพิการจะต้องได้รับโอกาสในการเข้าถึงสิทธิการทำงานตามมาตรา 33 โดยมีรูปแบบการให้บริการคือ ขึ้นทะเบียนคนพิการที่ประสงค์จะทำงานกับนายจ้าง ณ สำนักงานจัดหางานหรือทางเว็บไซต์ www.doe.go.th/smartjob ประสานนายจ้าง/สถานประกอบการเพื่อรับแจ้งตำแหน่งงานว่างและแจ้งขอใช้สิทธิตามมาตรา ๓๓ จับคู่ (Matching) ตำแหน่งงานว่างกับคนพิการให้มีความเหมาะสมกับทั้งสองฝ่ายส่งตัวคนพิการไปพบนายจ้าง/สถานประกอบการเพื่อสัมภาษณ์งาน และติดตามและประเมินผลการบรรจุงาน ซึ่งในปีงบประมาณ ๒๕๖๑ (ตุลาคม ๒๕๖๐ – สิงหาคม ๒๕๖๑) มีคนพิการขึ้นทะเบียนหางานกับกรมการจัดหางาน จำนวน 1,979 คน และบรรจุงาน จำนวน 1,565 คน
2. การส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ตามมาตรา ๓๔ นายจ้าง/สถานประกอบการ ที่มีหน้าที่ต้องจ้างคนพิการ แต่ไม่จ้างหรือจ้างไม่ครบตามจำนวนที่กำหนด นายจ้าง/สถานประกอบการต้องส่งเงินเข้าโดยตรงที่กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งในปี ๒๕๖๑ มีนายจ้าง/สถานประกอบการส่งเงินเข้ากองทุนฯ จำนวน ๑๔,๖๒๓ คน (๒๒.๔๙ %) (๑๐๙,๕๐๐ บาท ต่อ ๑ คน/ปี) ซึ่งในส่วนนี้ กระทรวงแรงงานไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด
3. ส่งเสริมการมีงานทำให้คนพิการ ตามมาตรา ๓๕ กรมการจัดหางาน โดยสำนักงานจัดหางานจังหวัด และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่เป็นหน่วยงานรับแจ้งการขอให้สิทธิและขอใช้สิทธิตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๖ และระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการให้สัมปทาน จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการ โดยวิธีกรณีพิเศษ ฝึกงาน หรือจัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวก ล่ามภาษามือ หรือให้ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๘ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๙ โดยมีการดำเนินงานของสำนักงานจัดหางานจังหวัด และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ซึ่งได้รับแจ้งการให้สิทธิจากนายจ้าง/สถานประกอบการแล้วจะดำเนินการตรวจสอบ ดังนี้ 1) สิทธิที่ให้แก่คนพิการครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในระเบียบฯ หรือไม่ 2) มูลค่าของสิทธิที่ให้แก่คนพิการเป็นไปตามที่กำหนดไว้ระเบียบหรือไม่3) คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการสามารถรับสิทธิที่นายจ้าง/สถานประกอบการให้ได้หรือไม่ เมื่อตรวจสอบครบถ้วนแล้ว จึงอนุญาตให้นายจ้าง/สถานประกอบการ ให้สิทธิแก่คนพิการ/ผู้ดูแลคนพิการตามที่แจ้ง จากนั้น สำนักงานจัดหางานจังหวัด และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ จะส่งสำเนาเอกสารในการให้สิทธิแก่คนพิการ/ผู้ดูแลคนพิการทั้งหมด ไปยัง สำนักงานการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด และกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อติดตามและตรวจสอบสิทธิประโยชน์ของคนพิการต่อไป
นอกจากนี้ สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานคร ยังช่วยจับคู่งานระหว่างนายจ้างกับคนพิการ ซึ่งคนพิการขึ้นทะเบียนกับกรมการจัดหางานแล้ว 1,979 คน บรรจุงาน 1,565 คน สำหรับประเด็นการร้องเรียนตามข่าวนั้น พบว่ามีภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง 4 ส่วนคือ คนพิการ กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เครือข่ายพิทักษ์สิทธิคนพิการ ภาครัฐ เพื่อให้ข้อเท็จจริงปรากฏ กระทรวงแรงงานได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในส่วนที่เกี่ยวข้องขึ้น โดยมีรองปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน โดยให้เห็นผลภายใน 15 วัน ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2552 ที่กระทรวงแรงงานได้ส่งเสริมการมีงานทำให้กับคนพิการนั้น พบว่ายังไม่เคยได้รับการร้องเรียนเรื่องการทุจริตเงินคนพิการแต่อย่างใด รมว.แรงงานกล่าว