นายภุชพงค์ โนดไธสง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยผลการสำรวจความสุขคนทำงาน (ในองค์กร) พ.ศ. 2561 พบว่า คะแนนความสุขคนทำงานในองค์กรระดับประเทศมีค่าคะแนนเฉลี่ย 58.62 คะแนน ซึ่งตามเกณฑ์ของเครื่องมือ HAPPINOMETER จัดอยู่ระดับ”HAPPY”หรือ “ระดับความสุขตามเป้าหมาย (ช่วงคะแนน 50.00 – 74.99 คะแนน)” และเมื่อพิจารณาค่าเฉลี่ยคะแนนความสุขคนทำงานในองค์กรระดับประเทศ ในแต่ละมิติความสุขทั้ง 9 มิติ โดยมิติความสุขที่มีค่าคะแนนสูงที่สุดคือ “มิติครอบครัวดี” มีค่าคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 64.50 คะแนน และมิติที่มีค่าคะแนนต่ำที่สุด คือ “มิติใฝ่รู้ดี” มีค่าคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 49.46 คะแนน จัดอยู่ในระดับ “Unhappy” หรือ “ระดับความสุขต่ำกว่าเป้าหมายเป็นสัญญาณให้ต้องพัฒนาสนับสนุนอย่างจริงจัง (ช่วงคะแนน 25.00 – 49.99 คะแนน)”
จากการพิจารณาจำแนกตามลักษณะทั่วไปของคนทำงานในองค์กร พบว่า คนทำงานเพศหญิงมีคะแนนความสุขสูงกว่าคนทำงานเพศชายเล็กน้อย คือ 59.42 คะแนน และ 57.91 คะแนน ตามลำดับ เมื่อพิจารณาตามกลุ่มอายุ พบว่า วัยทำงาน (อายุ 25-59 ปี) มีคะแนนความสุขสูงสุด 58.99 คะแนน รองลงมาวัยสูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป)
มีคะแนนความสุข 58.08 คะแนน และเยาวชน (อายุ 15-24 ปี) มีคะแนนความสุข 56.06 คะแนน เมื่อจำแนกตามสถานภาพการทำงาน พบว่า ลูกจ้างรัฐบาลมีคะแนนความสุขสูงกว่าลูกจ้างเอกชน คือ 65.54 คะแนน และ 56.07 คะแนน
สำหรับตามภาค พบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีคะแนนความสุขสูงสุด 60.97 คะแนน รองลงมา เป็นภาคเหนือ
60.85 คะแนน ภาคใต้ 59.85 คะแนน ภาคกลาง 57.44 คะแนน และกรุงเทพมหานคร 56.18 คะแนนตามลำดับ พบกับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.nso.go.th นายภุชพงค์ฯ กล่าว