กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนหากพบสัตว์ป่วยตายผิดปกติอย่าชำแหละ หรือสัมผัสตัวสัตว์โดยตรงและไม่ควรรับประทานเนื้อสัตว์ที่สงสัย เสี่ยงป่วยโรคพิษสุนัขบ้าและโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน หากพบเห็น ขอให้รีบแจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทันที
วันที่ 17 กันยายน 2561 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าวเกี่ยวกับประชาชนชำแหละเนื้อวัวที่ตายจากโรคพิษสุนัขบ้า มาประกอบอาหารและรับประทานในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช นั้น กรมควบคุมโรค ได้สั่งการให้ทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) จากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมลงพื้นที่กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อดำเนินการสอบสวนโรค เร่งค้นหา ติดตามผู้สัมผัสโรค ซึ่งไม่พบผู้ติดเชื้อแต่อย่างใด จากอาการตามรายงานข่าว จึงไม่ใช่อาการของพิษสุนัขบ้าโดยระยะฟักตัวของโรคพิษสุนัขบ้าในคนเฉลี่ย 3 สัปดาห์ – 6 เดือน เนื่องจากระยะเวลาสั้นเกินไป อย่างไรก็ตามทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้ดำเนินการให้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว และคอยเฝ้าระวังดูอาการต่อไป
กรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลว่า ประชาชนที่ชำแหละเนื้อสัตว์ตัวดังกล่าวมีความเสี่ยงสูงที่จะสัมผัสกับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าผ่านสารคัดหลั่งทั้งเลือดและน้ำลายของสัตว์ ส่วนกลุ่มเสี่ยงรองลงมาคือ ผู้ที่ปรุงประกอบอาหารหรือสัมผัสเนื้อสัตว์ดิบ ผู้ที่รับประทานเนื้อสัตว์แบบดิบ หรือกึ่งสุกกึ่งดิบ กรณีผู้ที่รับประทานเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่ำ ต้องเฝ้าระวัง จึงขอให้ประชาชนอย่านำสัตว์ที่สงสัยว่าป่วยตายผิดปกติมาชำแหละ ปรุงเป็นอาหารรับประทาน และไม่ขายหรือนำไปให้สัตว์อื่นกินเด็ดขาด รวมทั้งหลีกเลี่ยงการสัมผัส สัตว์ตายโดยไม่สวมเครื่องป้องกัน
ทั้งนี้ ประชาชนบางส่วนยังมีความรู้และความเชื่อเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าที่ไม่ถูกต้อง เช่น โรคพิษสุนัขบ้าสามารถรักษาให้หายได้ ไม่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต จึงส่งผลให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าเพิ่มขึ้น และการรับประทานเนื้อสัตว์ที่ป่วยตายผิดปกติ ยังเสี่ยงเป็นโรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) โรคบรูเซลโลสิส (Brucellosis) และโรคไข้หูดับอีกด้วย
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า วิธีป้องกันโรคติดต่อจากสัตว์ที่ตายจากการติดเชื้อ คือ 1.หากพบสัตว์ตายหรือป่วยตายผิดปกติ ขอให้รีบแจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทันที เพื่อดำเนินการวินิจฉัย และกำจัดอย่างถูกต้อง 2.หลีกเลี่ยงการสัมผัส หรือชำแหละซากสัตว์ที่สงสัยว่าเป็นโรค หากจำเป็นต้องสัมผัสให้สวมถุงมือยางและหน้ากากอนามัยทุกครั้ง 3.หลีกเลี่ยงนำสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่สงสัยว่าป่วยตายมากิน แจกจ่าย ขาย หรือนำไปให้สัตว์อื่นกิน 4.หลีกเลี่ยงการซื้อหรือบริโภคเนื้อสัตว์ที่ไม่ทราบแหล่งที่มา หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422