คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ประเทศไทยลงนามตอบรับคำเชิญผูกพันต่อกรรมสารของ OECD โดยมีข้อตกลงการยอมรับข้อมูลร่วมกัน เรื่องการประเมินความปลอดภัยของสารเคมี ทำให้ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผ่านการทดสอบความปลอดภัย จากห้องปฏิบัติการที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจประเมินเป็นไปตามหลักปฏิบัติที่ดีของ OECD สามารถใช้ขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ในประเทศสมาชิก โดยไม่ต้องทำการทดสอบซ้ำ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ลดระยะเวลา และลดการกีดกันทางการค้า รองรับการพัฒนายา วัคซีนของไทย โดยเฉพาะการทดสอบความปลอดภัยยาและวัคซีนโควิด-19
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ 21 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบการตอบรับคำเชิญผูกพันต่อกรรมสารขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD : Organisation for Economic Co-operation and Development) เกี่ยวกับการยอมรับร่วมกันของข้อมูล เรื่องการประเมินความปลอดภัยของสารเคมี ตามที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เสนอ ซึ่งส่งผลให้ไทยร่วมเป็นภาคีในรูปแบบฉบับสมบูรณ์ในด้านการยอมรับร่วมกันของข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมีในขอบข่ายผลิตภัณฑ์ยา สารป้องกันและกำจัดศัตรูพืช เครื่องสำอาง ยาสำหรับสัตว์ สารปรุงแต่งอาหารสำหรับคน สารปรุงแต่งอาหารสำหรับสัตว์ และสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมและความเชี่ยวชาญทุกด้านตามที่ OECD กำหนด เช่นการทดสอบทางเคมีและกายภาพ การทดสอบความเป็นพิษ การทดสอบการกลายพันธุ์ เป็นต้น
นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อว่า การตอบรับคำเชิญฯ ในครั้งนี้ ทำให้ประเทศไทยมีสิทธิและพันธกิจเช่นเดียวกับประเทศภาคีสมาชิกอื่นๆ อีก 37 ประเทศ โดยเฉพาะได้รับการร่วมยอมรับข้อมูลจากห้องปฏิบัติการทดสอบความปลอดภัยของประเทศไทยทันที และมีสิทธิร่วมกำหนดเงื่อนไขหลักการที่ต้องปฏิบัติร่วมกัน ผู้ประกอบการที่ต้องการนำผลิตภัณฑ์สุขภาพไปขึ้นทะเบียนเพื่อขายที่ต่างประเทศ สามารถนำข้อมูลที่ได้จากการทดสอบจากห้องปฏิบัติการทดสอบความปลอดภัยที่ผ่านการตรวจจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ไปขึ้นทะเบียนกับประเทศสมาชิกได้ โดยไม่ต้องถูกตรวจสอบซ้ำ จากเดิมที่ต้องส่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการทดสอบความปลอดภัยของประเทศนั้นๆ ทำให้ลดค่าใช้จ่าย ประหยัดเวลา ลดการกีดกันทางการค้า ส่งเสริมการคุ้มครองสุขภาพมนุษย์และสิ่งแวดล้อมได้ดียิ่งขึ้น ที่สำคัญคือ เป็นการรองรับการพัฒนายา วัคซีน และการทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยเฉพาะการทดสอบความปลอดภัยยาและวัคซีนโควิด-19 เป็นการยกระดับห้องปฏิบัติการทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ในประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เพิ่มความเชื่อมั่นระบบการทดสอบทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยในการรับรองผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพและรองรับโรคระบาดในประเทศไทย
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะได้รับการตรวจประเมินจากผู้ตรวจประเมินของภาคีเครือข่าย OECD อีกครั้งในระยะต่อไปเพื่อให้มั่นใจว่าการทำหน้าที่เป็นหน่วยตรวจสอบของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์นั้น สามารถดำเนินงานและธำรงรักษาระบบคุณภาพไว้ได้อย่างเป็นมาตรฐานเท่าเทียมกับประเทศสมาชิก OECD และชำระค่าบำรุง เพื่อสนับสนุนการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการยอมรับร่วมของข้อมูลเรื่องการประเมินความปลอดภัยของสารเคมี
“ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้พัฒนาศักยภาพการดำเนินการด้านต่างๆ เพื่อให้ได้รับการร่วมยอมรับข้อมูลการทดสอบความปลอดภัยตามหลักปฏิบัติที่ดีทางห้องปฏิบัติการหรือที่เรียกว่า OECD-GLP (Good Laboratory Practice / GLP ตามหลักการ OECD) มาเป็นระยะเวลาพอสมควร เมื่อ ครม.มีมติเห็นชอบให้ลงนามตอบรับคำเชิญการเข้าร่วมยอมรับข้อมูลการทดสอบความปลอดภัยจาก OECD จะดำเนินการตามร่างสัญญา ซึ่งมีสาระสำคัญคือ หน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจะต้องดำเนินการตามบทบัญญัติที่ OECD กำหนดไว้ 2 ฉบับ คือ 1.มติของสภาบริหารเกี่ยวกับการยอมรับร่วมกันของข้อมูลการประเมินความปลอดภัยของสารเคมี (Decision of the Council concerning the Mutual Acceptance of Data in the Assessment of Chemicals) 2.มติข้อเสนอแนะของสภาบริหารในการดำเนินการให้สอดคล้องตามหลักปฏิบัติที่ดี ทางห้องปฏิบัติการ (Decision and Recommendation of the Council on Compliance with Principle of Good Laboratory Practice)” นายแพทย์โอภาส กล่าว
…………………………………………………………