รมว.วธ หนุน บวร On Tour ชุมชนคุณธรรมฯ วัดนาหนอง ราชบุรี นำพลัง “บวร” ขับเคลื่อนสังคมสงบสุข ส่งเสริมวิถีชีวิตไท-ยวน ชูแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรม-ประเพณี สร้างรายได้สินค้าวัฒนธรรม ผ้าจก-ต๋าหลาดไท-ยวน
วันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๖๓ ที่จังหวัดราชบุรี นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เดินทางไปติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมตามรอยศาสตร์พระราชาฯ “บวร On Tour” ของชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขับเคลื่อนด้วยพลังบวร ณ ชุมชนคุณธรรมวัดนาหนอง ต.ดอนแร่ อ.เมืองราชบุรี จ.ราชบุรี โดยมี พระครูวินัยธรอำนาจ อนุภทฺโท เจ้าอาวาส วัดนาหนอง นายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี หัวหน้าส่วนราชการ จ.ราชบุรี ผู้นำ “บวร” ชุมชนคุณธรรมวัดนาหนอง คณะกรรมการ เด็กและเยาวชน ให้การต้อนรับ
โดยนายสาโรจน์ มูลพวก รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลดอนแร่ ผู้แทนพลังบวร บรรยายสรุปกระบวนการ และปัจจัยแห่งความสำเร็จที่ชุมชนภาคภูมิใจในการขับเคลื่อนชุมชนตามแนวทางคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขับเคลื่อนด้วยพลังบวร จากนั้นเยี่ยมชมศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้านราชบุรี นิทรรศการการทอผ้าจกของกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ยวน ชมไร่แสวงสุข (เกษตรอินทรีย์/โฮมสเตย์) สะพานไม้ไผ่ (สระบัว-นาข้าว) และชมวิถีวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ยวน ณ ต๋าหลาดไท-ยวน
นายอิทธิพล กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำหลักการ “บวร : บ้าน วัด โรงเรียน” ไปขับเคลื่อนและดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจ และเข้าถึงโครงการต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ทั่วถึงและเท่าเทียมกัน ซึ่งเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ที่ผ่านมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานของชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง วัดสำโรงเกียรติ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งนับว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับนโยบายดังกล่าวเป็นอย่างมาก ดังนั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมนโยบายดังกล่าวของรัฐบาล วธ. จึงเดินหน้าขับเคลื่อนการดำเนินงานชุมชนคุณธรรมฯ อย่างต่อเนื่อง
โดยจัดโครงการ บวร On Tour เพื่อพัฒนาต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมตามรอยศาสตร์พระราชาเพื่อชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืนทั่วประเทศ โดยเริ่มต้นที่ชุมชนต้นแบบนำร่องจังหวัดละ ๑ ชุมชน รวม ๗๖ ชุมชน และพร้อมขยายเป้าหมายเป็น ๑,๐๐๐ ชุมชน ภายในปลายปีนี้ ซึ่งชุมชนคุณธรรมวัดนาหนอง จ.ราชบุรี เป็น ๑ ใน ๗๖ ชุมชนต้นแบบนำร่องที่มีความโดดเด่นใน ๓ มิติ คือ ศาสนา ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และประเพณีวัฒนธรรม ประชาชนส่วนใหญ่สืบเชื้อสายไท-ยวน มีการสืบสาน และอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นของตนไว้ให้คงอยู่ เช่น ภาษา อาหาร ประเพณี และการแต่งกาย มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา โดยจัดกิจกรรมทำบุญตักบาตร รักษาศีลทุกวันพระ และจัดปฏิบัติธรรมในช่วงวันวิสาขบูชา วันสำคัญทางศาสนาและวันสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี
นอกจากนี้ มีการจัดตั้งศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้านราชบุรี วัดนาหนอง เพื่อเป็นศูนย์กลางในการจำหน่ายผ้าจก ผ้าพื้นเมืองของคนในชุมชน โดยผ้าทอไทยวน เป็นผ้าทอที่มีความประณีต สวยงาม และมีความเป็นเอกลักษณ์ทำให้ผ้าทอไท-ยวนของ จ.ราชบุรี มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง รวมทั้งมีการจัดตั้งต๋าหลาดไท-ยวน วัดนาหนอง เป็นแหล่งจับจ่ายใช้สอยสินค้าพื้นเมือง สินค้าการเกษตรของคนในชุมชน เพื่อส่งเสริมให้คนในชุมชนนำสินค้ามาจำหน่าย เช่น พืชผักสวนครัว อาหาร ซึ่งจะเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้คนในชุมชน นอกจากนี้มีการจัดงานวัฒนธรรมและประเพณีเป็นประจำทุกปี เช่น ประเพณีบุญเดือน ๓ (ตักบาตรข้าวต้มมัด) ประเพณีที่ ๑ ปีมีครั้งเดียว ซึ่งสืบทอดมาจากบรรพบุรุษมากว่า ๘๒ ปี ประเพณีตักบาตรเทโว สงกรานต์ ถวายสลากภัตแด่พระสงฆ์ ซึ่งทำให้ชุมชนสงบสุขไม่มีปัญหาต่างๆ เช่น ยาเสพติด ลักขโมย อาชญากรรม เกิดขึ้นในชุมชน
นายอิทธิพล กล่าวอีกว่า ปัจจุบันชุมชนคุณธรรมวัดนาหนอง มีจุดเด่นที่เป็นไฮไลท์ หรือ เสน่ห์ของชุมชนฯ ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวสนใจที่จะมาเที่ยวในชุมชนฯ คือ มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม ประเพณีที่โดดเด่น อาทิ จุดชมรอยพระพุทธบาทบนเขาวัดนาหนอง สะพานไม้ไผ่ (สระบัว-นาข้าว) มีโฮมสเตย์ ที่พัก และโรงแรม ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเข้าพักได้ในชุมชน หรือชุมชนใกล้เคียง โดยมีบรรยากาศแบบท้องถิ่น สัมผัสกลิ่นอายธรรมชาติ และร่วมทำอาหารชาติพันธุ์กับเจ้าของบ้าน นอกจากนี้มีเส้นทางการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวที่สำคัญของชุมชน อำเภอ จังหวัดอื่นๆ อาทิ กาดวิถีชุมชนคูบัว อ.เมือง ตลาดนัดโอ๊ะป่อย อ.สวนผึ้ง ตลาดน้ำดำเนินสะดวก อ.ดำเนินฯ พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน อ.โพธาราม และอุทยานหินเขางู อ.เมือง เป็นต้น ซึ่งนับเป็นชุมชนคุณธรรมฯ ที่มีความพร้อมและโดดเด่นในทุกด้าน นับเป็นตัวอย่างในการสร้างสังคมแห่งความสงบสุขอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
……………………………………………