กรมอุทยานแห่งชาติฯชี้แจงการแก้ปัญหาค้าสัตว์ป่าออนไลน์ในไทย มีการดำเนินการอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง หลังจากองค์กร(TRAFFIC)เปิดเผยรายงานผลวิจัยและสำรวจข้อมูลตลาดซื้อขายสัตว์ป่าผิดกฎหมายผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทย
นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ปา และพันธุ์พืช กล่าวถึงกรณีที่องค์กร Trading Faces: a rapid assessment on the use of Facebook to trade wildlife in Thailand (TRAFFIC) เปิดเผยรายงานผลวิจัยและสำรวจข้อมูลตลาดซื้อขายสัตว์ป่าผิดกฎหมายผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทย มีประเด็น ดังนี้
1.ไทยเป็นประเทศที่ตลาดลักลอบซื้อขายสัตว์ป่าออนไลน์เติบโตเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังได้ชื่อว่าเป็นประเทศศูนย์กลางการค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมายมานานแล้ว
2.มากกว่าครึ่งของสัตว์ที่ถูกเสนอขาย เป็นชนิดพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535) และส่วนใหญ่ยังเป็นสัตว์ที่ได้รับการประเมินโดยสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN)
3.จากการสำรวจข้อมูลเพิ่มเติมในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา พบว่ากลุ่มซื้อขายสัตว์ป่าผิดกฎหมายทั้ง 12 กลุ่มบนเฟซบุ๊กในประเทศไทย มีอย่างน้อย 9 กลุ่มที่ยังเคลื่อนไหวอยู่อย่างต่อเนื่อง
4.พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535 ซึ่งเป็นกฎหมายหลักเพื่อคุ้มครองสัตว์ป่าของไทย ยังมีช่องโหว่มากมาย ได้แก่ บทลงโทษที่เบามาก ไม่สามารถจัดการการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5.สนับสนุนรัฐบาลไทยในการปฏิรูป พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า โดยคำนึงถึงการเพิ่มชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามโดยการค้าที่ยังไม่ถูกบรรจุเข้าไว้ในกฎหมายปัจจุบันมากขึ้น รวมถึงการคุ้มครองชนิดพันธุ์ต่างประเทศที่อยู่บนบัญชีในอนุสัญญาไซเตสด้วย
จากกรณีดังกล่าว นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นประเทศภาคีอนุสัญญา CITES มีความมุ่งมั่นที่จะป้องกันปราบปรามการลักลอบค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายทุกรูปแบบทั้งในระดับชาติ และนานาชาติ ดังจะเห็นได้จากผลการปราบปรามจับกุมที่ผ่านมาตามลำดับ การลักลอบซื้อขายสัตว์ป่าผิดกฎหมายผ่านสื่อสังคมออนไลน์ นับว่าเป็นปัญหาที่สำคัญในปัจจุบัน เนื่องจากกระทำได้ง่าย รวดเร็วและติดตามจับกุมได้ยาก สัตว์ป่าที่เสนอซื้อขายในสื่อสังคมออนไลน์ พบว่าส่วนใหญ่เป็นสัตว์ป่าต่างประเทศที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง โดยพบว่ามีชนิดสัตว์ป่าทั้งในและนอกบัญชีอนุสัญญา CITES ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดังนี้
- การจัดตั้งชุดปฏิบัติการ “เหยี่ยวดง” เพื่อเป็นชุดปฏิบัติการภาคสนามในการป้องกันปราบปรามการซื้อขายสัตว์ป่าผิดกฎหมายในสื่อสังคมออนไลน์โดยตรง ซึ่งภายหลังจากการจัดตั้งชุดปฏิบัติการเหยี่ยวดง สามารถจับกุมดำเนินคดีผู้กระทำผิด ได้ทั้งสิ้นจำนวน 79 คดี ผู้ต้องหา 81 คน นก 752 ตัว สัตว์เลื้อยคลาน 925 ตัว สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 29 ตัว งาช้าง 10 กิ่ง เกล็ดลิ่น ๙๐๐ กรัม ซากสัตว์ป่า ๖๖๘ ซาก
- ร่วมกับองค์กรต่าง ๆ รณรงค์ การไม่ซื้อ ไม่ขายสัตว์ป่าผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นยังได้ร่วมมือกับ โครงการ USAID WILDLIFE ASIA ดำเนินโครงการติดตามแจ้งเตือนการซื้อขายสัตว์ป่าผิดกฎหมายออนไลน์ ผ่านการค้นหาข้อมูลใน Google เพื่อให้ความรู้กับผู้ใช้ระบบออนไลน์ไม่ร่วมมือหรือทำการซื้อขายสัตว์ป่าผิดกฎหมาย
3. เพิ่มประสิทธิภาพ ศูนย์สายด่วนผู้พิทักษ์ป่า 1362 เพื่อรับการแจ้งเหตุ การแจ้งเบาะแส การกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับสัตว์ป่าและพืชป่า จากประชาชน จากการปฏิบัติงานที่ผ่านมาสามารถใช้ข้อมูลที่ได้รับแจ้งนำไปเป็นเบาะแสในการจับกุมได้จำนวนมาก
4.สำหรับประเด็นที่กล่าวว่าพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ยังมีช่องโหว่และบทกำหนดโทษที่เบานั้น ขณะนี้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ……… เพื่อปรับปรุงแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตลอดจนการเพิ่มบทกำหนดโทษให้หนักขึ้นแล้ว พร้อมทั้งได้มีการแก้ไขปัญหาการจัดการสัตว์ป่าต่างประเทศที่อยู่ในประเทศให้ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย โดยกำหนดให้สัตว์ป่าต่างประเทศที่อยู่ในบัญชีของอนุสัญญา CITES เป็น “สัตว์ป่าควบคุม” เพื่อให้การบริหารจัดการ การครอบครอง การเพาะเลี้ยง และการค้า สอดคล้องกับข้อกำหนดในอนุสัญญา CITES โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2560 อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติละสิ่งแวดล้อมเสนอแล้ว ขณะนี้อยู่ในชั้นการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ทั้งนี้เมื่อผ่านการพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว คณะรัฐมนตรีจะส่งเรื่องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาตามขั้นตอน ต่อไป