โรงพยาบาลเลิดสินเตือน โรคเอ็นอักเสบเกิดจากการเคลื่อนไหวของเอ็นกล้ามเนื้อบริเวณเดิมซ้ำๆ เป็นเวลานาน ในขณะทำกิจกรรมหรือเล่นกีฬานานต่อเนื่อง หากมีอาการรุนแรงควรรีบรักษาอย่าปล่อยไว้นานเพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย
นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคเอ็นอักเสบ คือการอักเสบของเอ็นกล้ามเนื้อซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยบริเวณที่พบบ่อย ได้แก่ หัวไหล่ ข้อศอก ข้อมือ ข้อเข่า และข้อเท้า เมื่อเอ็นกล้ามเนื้ออักเสบจะมีอาการปวดและบวม เคลื่อนไหวเอ็นกล้ามเนื้อได้ลำบาก มีอาการฟกช้ำ มีก้อนบวมนูนตามกล้ามเนื้อ อาการปวดดังกล่าวอาจกระทบต่อการทำกิจวัตรประจำวันให้มีความยากลำบาก หรือปวดมากยิ่งขึ้นโรคนี้หากมีการอักเสบไม่มากส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นภายใน 2-3 วัน แต่ถ้ามีอาการรุนแรงอาจเป็นต่อเนื่องได้นาน 6 เดือน จนถึง 2 ปี สาเหตุเกิดจากได้รับบาดเจ็บกะทันหัน หรือเกิดจากการเคลื่อนไหวของเอ็นกล้ามเนื้อบริเวณเดิมซ้ำๆ เป็นเวลานาน ทำให้เอ็นบริเวณที่ถูกใช้งานตึงขึ้นเรื่อยๆ โดยผู้ที่มีความเสี่ยงต่อเอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ ได้แก่ 1. ผู้ที่มีอายุมากจะยิ่งมีโอกาสเกิดภาวะเอ็นอักเสบเนื่องจากเอ็นกล้ามเนื้อเริ่มมีความยืดหยุ่นน้อยลง 2. มีการเคลื่อนไหวร่างกายบางส่วนผิดท่าบ่อยครั้ง 3. เกิดจากการเล่นกีฬาบางชนิดที่เอ็นกล้ามเนื้อต้องทำงานซ้ำๆ เช่น ฟุตบอล ตะกร้อ แบดมินตัน ว่ายน้ำ และวิ่ง
นายแพทย์สมพงษ์ ตันจริยภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ กล่าวว่า หากมีอาการเอ็นกล้ามเนื้ออักเสบไม่รุนแรงควรหยุดพักกิจกรรมที่ทำอยู่และสามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยตนเอง ดังนี้ 1. ประคบเย็นด้วยผ้าห่อน้ำแข็งบริเวณที่อักเสบนาน 20 นาที วันละ 3-4 ครั้ง 2. ใช้ผ้าพันบริเวณรอบๆ เพื่อรองรับการใช้งานเอ็นกล้ามเนื้อบริเวณนั้น 3. พยายามยกส่วนของร่างกายที่มีอาการบาดเจ็บอยู่ในระดับสูง โดยใช้หมอนหนุนเมื่อนั่งหรือนอน
4. รับประทานยาหรือทาเจลเย็นเพื่อบรรเทาอาการอักเสบเบื้องต้น 5. หลีกเลี่ยงการใช้เอ็นกล้ามเนื้อส่วนที่อักเสบ ทั้งนี้หากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการรุนแรงอย่างต่อเนื่องควรรีบพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย เช่น เส้นเอ็นฉีกขาด กล้ามเนื้อปลายแขนอ่อนแรง เป็นต้น แพทย์อาจรักษาโดยการฉีดยาบรรเทาอาการปวด ทำกายภาพบำบัด พักใช้งานและใช้ยาในการรักษา ถ้าอาการดังกล่าวยังไม่ดีขึ้นอาจรักษาด้วยการผ่าตัด สำหรับวิธีการป้องกันควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่จะส่งผลให้เกิดแรงตึงต่อเอ็นกล้ามเนื้อมากเกินไป โดยเฉพาะเมื่อทำซ้ำเป็นเวลานาน ทำกิจกรรมออกกำลังกายให้หลากหลายและควรสับเปลี่ยนการออกกำลังกายชนิดอื่น อบอุ่นร่างกายให้พร้อมก่อนการทำกิจกรรมและหมั่นยืดกล้ามเนื้อหลังการออกกำลังกายตลอดจนเลือกอุปกรณ์การเล่นกีฬาที่เหมาะสม น้ำหนักเบา และใช้ท่าทางการเล่นที่ถูกต้อง