อว.ชี้ แนวทางการส่งเสริม CWIE ของไทยให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

3 สิงหาคม 2563 : รองศาสตราจารย์สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจง เรื่อง การจัดทำฐานข้อมูลสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน (CWIE Database) ณ ห้องกมลทิพย์ โรงแรม เดอะ สุโกศล ถนนศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร มีผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วย  นายกสมาคมสหกิจศึกษาไทย (ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน) ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐและเอกชนผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรม สวนอุตสาหกรรม สถานประกอบการ และประธานเครือข่ายพัฒนาสหกิจศึกษา

 

การประชุมครั้งนี้ เป็นการชี้แจงการใช้งานระบบฐานข้อมูลสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน ให้กับประธานเครือข่ายพัฒนาสหกิจศึกษาภูมิภาค 9 เครือข่าย ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน จำนวน 11 แห่ง ที่ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การส่งเสริมการจัดสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงานไปแล้ว โดยมี ดร.อรสา ภาววิมล รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา บรรยายเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริม CWIE ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และการบรรยายการจัดทำฐานข้อมูลสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน (CWIE Database) โดย นายวิทวัส พันธุมจินดา ผู้อำนวยการสำนักคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

รองศาสตราจารย์ สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ กล่าวตอนหนึ่งว่า ภารกิจหลักของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ (อว.) ในฐานะกระทรวงใหม่ คือการสร้างคน ด้วยการสร้างและพัฒนาบัณฑิตให้เป็น Smart Graduate เป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ มีงานทำ สถานประกอบการเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและต้องการกำลังคนที่มีทักษะการทำงานใหม่ๆ โลกของการทำงานยุคใหม่ต้องการ Skill Sets แบบใหม่ ต้องคิดใหม่ทำใหม่ เปลี่ยน Mindset ใหม่ ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งท้าทายของสถาบันอุดมศึกษาในการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนเพื่อเตรียมความพร้อมนักศึกษา ทั้งทางด้านวิชาการ วิชาชีพ วิชาชีวิต และมีสมรรถนะที่จำเป็น ที่สามารถปรับตัวเพื่อการเรียนรู้ สามารถเคลื่อนย้ายไปเรียนและทำงานในประเทศต่างๆ สถาบันอุดมศึกษาไม่สามารถสร้าง Smart Graduate เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดงาน และตอบโจทย์ประเทศในสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดังกล่าวได้ตามลำพัง แต่จะต้องร่วมมือกับทุกภาคส่วน อว. จึงมีความมุ่งมั่นในการให้สถาบันอุดมศึกษาหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ร่วมกันจัดหลักสูตรการเรียนการสอนในลักษณะร่วมผลิตระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและสถานประกอบการ หรือหลักสูตร CWIE เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริง (Work-based Learning) ซึ่งเป็นการสร้างบัณฑิตที่มีสมรรถนะและคุณลักษณะพร้อมในการปฏิบัติงาน และมีทักษะที่ตรงตามความต้องการของตลาดงาน และ อว. มีเป้าหมายที่จะยกระดับ CWIE สู่ Chapter 2 ตามที่ผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา สถานประกอบการ หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน 11 หน่วยงานที่ร่วมลงนาม MOU  ในการประชุมวิชาการเพื่อส่งเสริมการจัด CWIE เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา โดยได้เน้นย้ำให้ CWIE เป็นหลักสูตรหลักในการจัดการเรียนการสอน มีการร่วมมือของทุกภาคส่วนในรูปแบบจตุภาคี คือ การร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งสถาบันอุดมศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชนและท้องถิ่น รวมทั้ง ยกระดับ CWIE สู่ Global Platform และสร้าง Global Network เพื่อให้การจัด CWIE ของไทยมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

“ทั้งนี้ หัวใจสำคัญประการหนึ่งของการดำเนินงาน CWIE ให้บรรลุตามเป้าหมาย คือ การมีข้อมูลหรือแหล่งความรู้ที่ใช้ประกอบการตัดสินใจ ซึ่งการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว นอกจากจะเป็นการให้คำมั่นสัญญาว่าจะร่วมกันส่งเสริม ผลักดันและประสานให้หน่วยงานในสังกัดร่วมผลิตบัณฑิตแล้ว ยังเป็นการตกลงที่จะให้ความร่วมมือในการนำเข้าข้อมูลใน CWIE Database ซึ่ง อว. ร่วมกับมหาวิทยาลัยบูรพาพัฒนา CWIE Database เพื่อเป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมข้อมูลและบริการ CWIE ด้านต่างๆ แบบครบวงจร หรือ One Stop Service เพื่อให้ทุกหน่วยงานได้ใช้ในการกำหนดนโยบาย ทิศทาง และแนวทางการดำเนินงานด้านการจัด CWIE” ปลัดกระทรวงฯ กล่าวในตอนท้าย

สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ (ภารกิจด้านการอุดมศึกษา)