วันที่ 13 ก.ย.61 นายทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมการจัดการพื้นที่คุ้มครองและพื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพข้ามพรมแดน ระหว่างราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐประชาธิไตยประชาชนลาว ร่วมด้วยเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ สาธารณรัฐประชาธิไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) ร.ศ.George A.Gale มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, M.R.Tim Redford มูลนิธิฟรีแลนด์, ดร.ยงยุทธ ไตรสุรัตน์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์และหัวหน้าอุทยานแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับการจัดการพื้นที่คุ้มครอง ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร
นายทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ ในฐานะผู้แทนนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า “ประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิไตยประชาชนลาว เป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมาตลอด และทั้ง 2 ประเทศก็มีทรัพยากรธรรมชาติ พื้นที่ป่าไม้และสัตว์ป่ายังมีความอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่คุ้มครองที่เชื่อมต่อกัน ซึ่งประเทศไทยและสปป.ลาวมีพื้นที่คุ้มครองที่เชื่อมต่อ ได้แก่ บริเวณอุทยานแห่งชาติดอยภูคา จ.น่าน อุทยานแห่งชาติแม่จริม จ.น่าน อุทยานแห่งชาติขุนน่าน จ.น่าน อุทยานแห่งชาติศรีน่าน จ.น่าน เชื่อมต่อกับเขตอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพน้ำปุย (Nam Poui National Biodiversity Conservation Area) และบริเวณอุทยานแห่งชาติผาแต้ม (กลุ่มป่าพนมดงรัก – ผาแต้ม) จ.อุบลราชธานี เชื่อมต่อกับเขตอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติภูเชียงทอง (PhouXieng Thong National Biodiversity Conservation Area) ดังนั้น พื้นที่ดังกล่าว จึงเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญในการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในการอนุรักษ์ป่าและสัตว์ป่าระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อทำให้การบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ประเทศไทยมีพื้นที่คุ้มครองที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน จำนวนทั้งสิ้น 11 แห่ง ใน 4 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์”
“สำหรับการประชุมการจัดการพื้นที่คุ้มครองและพื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพข้ามพรมแดน ระหว่างราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐประชาธิไตยประชาชนลาว จัดขึ้นเพื่อ 1.)เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติข้ามพรมแดน 2.)เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ด้านการจัดการพื้นที่คุ้มครองของทั้งสองประเทศ 3.)เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางที่เหมาะสมในการปฏิบัติงานเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติข้ามพรมแดนระหว่างประเทศและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 4.) เพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติข้ามพรมแดนระหว่างหน่วยงานภาครัฐของสองประเทศ รวมทั้งองค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรระหว่างประเทศ” นายทรงธรรม กล่าว
นอกจากนี้ ในวันที่ 14-15 ก.ย. 61 เจ้าหน้าที่ของทั้ง 2 ประเทศ จะลงพื้นที่สู่กลุ่มป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่ พื้นที่มรดกโลก เพื่อศึกษาดูงาน เช่น พื้นที่อุทานแห่งชาติทับลาน ในเรื่องการจัดการพื้นที่คุ้มครองและ
พื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ บริเวณกลุ่มป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่ พื้นที่มรดกโลก กรณีศึกษาแนวเชื่อมต่อระหว่างกลุ่ม-ป่า บริเวณทางหลวงหมายเลข 304 การฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์ป่าหายาก ในกลุ่มดงพญาเย็นเขาใหญ่ การลาดตระเวนเชิงคุณภาพและการบังคับใช้กฎหมาย การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการความขัดแย้งระหว่างคนและสัตว์ป่า โดยกลุ่มอนุรักษ์กระทิง คลองปลากั้ง เป็นต้น