ควอท : กับการพัฒนาระบบและกลไกอุดมศึกษาไทย ในยุคพลิกผัน

วันที่ 30 กรกฎาคม 2563 : ศาสตราจารย์สัมพันธ์ ฤทธิเดช เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ ครั้งที่ 15 ประจำปี 2563 สมาคมเครือข่ายพัฒนาวิชาชีพอาจารย์และองค์กรระดับอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย (ควอท) เรื่อง การพัฒนาระบบและกลไกอุดมศึกษาไทย ในยุคพลิกผัน “Developing Thai Higher Education System and Mechanism for Disruptive Era” โดยมี ผู้บริหารระดับกระทรวงที่กำกับดูการอุดมศึกษา ผู้บริหารระดับของสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ตัวแทนของมหาวิทยาลัยที่ได้รับการคัดเลือกให้รับรางวัล สมาชิกสมาคม ควอท คณาจารย์และบุคลากรจากสถาบันอุดมศึกษา เข้าร่วมการประชุมฯ ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์วิจิตร ศรีสอ้าน สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ อาคารถนนศรีอยุธยา

ในการประชุมวิชาการครั้งนี้ ประกอบด้วยการนำเสนอบทความวิจัย บทความวิชาการเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนในยุคพลิกผัน การส่งเสริมการเรียนรู้และเปิดโอกาสให้ผู้บริหารและอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเหล่านี้ ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้ตลอดจนประสบการณ์ในการจัดการกระบวนการเรียนการสอน ที่มุ่งเน้นการเรียนรู้ จากการปฏิบัติจริงกับคณาจารย์ระดับอุดมศึกษาหลากหลายสถาบันทั่วประเทศ โดยใช้ระบบออนไลน์ และมีการมอบรางวัลอาจารย์ต้นแบบด้านการสอนอีกด้วย

ศาสตราจารย์สัมพันธ์ ฤทธิเดช เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวในการเปิดการประชุมว่า การจัดการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาเพื่อให้ได้บัณฑิตที่มีคุณภาพและมีคุณลักษณะของผู้เรียนในศตวรรษ ที่ 21 ตามกรอบแนวคิดการศึกษา Thailand 4.0 ที่ผู้เรียนสามารถค้นคว้าหาความรู้ได้จากทุกที่ และเป็นสิ่งท้าทายของสถาบันอุดมศึกษา ผู้สอนในสถาบันอุดมศึกษา โดยเฉพาะในช่วงภาวะวิกฤตที่มีการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกผัน เราต้องให้ความสำคัญต่อการออกแบบการเรียนการสอนให้สอดรับกับสภาวการณ์ปัจจุบัน และต้องอาศัยความรอบรู้ในด้านภาษา การสื่อสาร และสื่อดิจิทัล เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีทักษะการทำงานกับระบบเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าและทันสมัย พร้อมที่จะเรียนรู้และทำสิ่งใหม่ๆรวมทั้งสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้งานได้จริงเมื่อก้าวออกสู่สังคม โดยเฉพาะสังคมปัจจุบันที่มีความเปลี่ยนแปลงผันผวนอย่างรวดเร็วทั้งในสังคมไทยและสังคมโลก

รองศาสตราจารย์บัณฑิต ทิพากร นายกสมาคมเครือข่ายการพัฒนาวิชาชีพอาจารย์และองค์กรกระดับอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย (ควอท) กล่าวตอนหนึ่งว่า สภาวะการณ์ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงรอบด้าน ส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อการบริหารจัดการ การดำรงชีวิต การทำงานของบุคคลในสังคม และจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที เช่น วิกฤตการณ์ไวรัสโคโรน่า (COVID-2019) ที่ส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นจุดเปลี่ยนการเรียนการสอน การทำงานของบุคคลในองค์กร โดยเฉพาะสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน จำเป็นต้องเปลี่ยนไป ผลักดันให้ใช้การจัดการเรียนการสอนด้วยระบบออนไลน์อย่างเร่งด่วน การวัดและประเมินผลที่เคยใช้การจัดสอบกับนักศึกษาจำนวนมากในห้อง จำเป็นต้องศึกษาหาวิธีการวัดผลใหม่ ๆ แต่ยังคงรักษาคุณภาพการเรียนรู้ พร้อมทั้งร่วมกันพัฒนาระบบและกลไกในการปรับตัวและรับมือกับยุคพลิกผันที่เกิดขึ้น โดยคำนึงถึงผู้เรียนและบุคลากรเป็นสำคัญ

 “หน้าที่ที่สำคัญของมหาวิทยาลัยและอาจารย์ คือ การเตรียมคน สร้างคนสู่สังคมและตลาดแรงงาน สร้างคนให้สามารถลงมือปฏิบัติงานได้จริง สร้างงานวิจัย พัฒนาผลงานวิจัยที่ตอบสนอง ความต้องการของสังคม สามารถนำงานวิจัยพัฒนาต่อยอด สถาบันอุดมศึกษาจึงต้องปรับตัว เปลี่ยนผ่านให้เท่าทันกับยุคดิจิทัล ทั้งหลักสูตร อาจารย์ผู้สอน และกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่ทันกับโลกยุคดิจิทัล อาจารย์ต้องไม่สอนแบบเดิม แต่ต้องออกแบบ (Design & Facilitate) หลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นการปฏิบัติและลงมือจริง (Mentoring) บทบาทของอาจารย์เน้นเป็นที่ปรึกษา (Coaching) และต้องมีจิตวิญญาณแห่งความเป็นครู แลกเปลี่ยนความคิดได้ (Motivate & Inspire) สุดท้ายส่งเสริมนักศึกษาให้เกิดจินตนาการสู่การสรรค์สร้างนวัตกรรม (Innovation) โดยไม่ละทิ้งคุณธรรม จริยธรรม” เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวในตอนท้าย

………………………………………………………………………………………………………………….