รัฐบาล เร่งส่งเสริมคนไทยทุกวัยเพิ่มกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวัน ลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง

กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดตัวแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พ.ศ.2561-2573  ให้คนไทยทุกกลุ่มวัยมีกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น ลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง ลดความเสี่ยงการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้ถึง 11,129 รายต่อปี และลดต้นทุนค่ารักษาพยาบาลได้ถึง 5,977 ล้านบาท

วันที่ 12 กันยายน 2561  นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย พร้อมด้วยนางวัฒนาพร ระงับทุกข์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ดร.ทพ.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายธนา ยันตรโกวิท รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และนายวรรณรัตน์ ศรีสุกใส ผู้อำนวยการกองความปลอดภัยแรงงาน กระทรวงแรงงาน แถลงข่าวเปิดตัวแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พ.ศ. 2561-2573 เพื่อส่งเสริมให้คนไทยมีกิจกรรมทางกายในวิถีชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นผู้นำการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในระดับโลก และนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย จึงเป็นที่มาของแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ฉบับที่ 1 จากความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อให้เกิดกิจกรรมทางกายอย่างเป็นวิถีชีวิตประจำวันในทุกกลุ่มวัย เนื่องจากคนไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ถึงร้อยละ 71 ของการเสียชีวิตทั้งหมด สาเหตุหนึ่งมาจากการมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอ ถึง 1 ใน 3 ของคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งคนไทยโดยเฉลี่ยมีพฤติกรรมเนือยนิ่งที่ไม่รวมการนอนสูงถึงเกือบ 14 ชั่วโมงต่อวัน เช่น การนั่งเล่นโทรศัพท์มือถือ การใช้คอมพิวเตอร์ การนั่งคุยกับเพื่อน การนั่งหรือนอนดูโทรทัศน์ และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีน้ำหนักเกินและโรคอ้วน ซึ่งมีความสัมพันธ์ชัดเจนต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน และโรคมะเร็งบางชนิด ดังนั้นหากส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมทางกายอย่างจริงจังจะช่วยลดความสูญเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้ถึง 11,129 รายต่อปี และลดต้นทุนค่ารักษาพยาบาลได้ถึง 5,977 ล้านบาท

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ กล่าวว่า สำหรับแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พ.ศ. 2561-2573  ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.การส่งเสริมกิจกรรมทางกายประชาชนทุกกลุ่มวัย 2.การส่งเสริมสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย ซึ่งครอบคลุมสถานที่ที่ประชาชนแต่ละกลุ่มวัยใช้ชีวิตประจำวัน เช่น สถานที่ทำงาน สถานประกอบการ สถานบริการสุขภาพ ชุมชน รวมถึงระบบการขนส่งที่เอื้อให้เกิดการมีกิจกรรมทางกายที่เพิ่มขึ้น และ3.การพัฒนาระบบสนับสนุนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ได้แก่ การสร้างองค์ความรู้การวิจัย ระบบเฝ้าระวังการมีกิจกรรมทางกาย การสื่อสารรณรงค์ และนโยบายส่งเสริม ซึ่งได้จัดทำแผนปฏิบัติการไว้แล้ว จากนี้จะเข้าสู่การขับเคลื่อน ให้เกิดผลในทางปฏิบัติ

ทั้งนี้ กิจกรรมทางกายคือการขยับเคลื่อนไหวร่างกายทั้งหมดในชีวิตประจำวัน ก่อให้เกิดการเผาผลาญพลังงานโดยกล้ามเนื้อ ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การเดินทาง และกิจกรรมนันทนาการ เช่นการยืน การเดินระยะทางสั้นๆ การทำงานบ้าน การเดินเร็ว การปั่นจักรยาน การวิ่ง การว่ายน้ำเร็ว การเล่นกีฬา ทุกคนสามารถลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง ด้วยการลุกขึ้นเดินไปมาหรือยืดเหยียดร่างกายทุก 1 ชั่วโมง และในเด็กปฐมวัย วัยเด็ก และวัยรุ่น ควรจำกัดการใช้คอมพิวเตอร์ นั่งดูทีวี หรือเล่นโทรศัพท์มือถือในแต่ละวัน

ทางด้านนางวัฒนาพร ระงับทุกข์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การมีกิจกรรมทางกายส่งผลดีต่อการเรียนรู้  และการพัฒนาทั้งด้านร่างกายและสมองของเด็กนักเรียน  นักศึกษา  กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดให้มีหลักสูตรพลศึกษาเพื่อให้เด็กได้มีการเคลื่อนไหวร่างกาย รวมถึงชั่วโมงเรียนเกษตร ลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด กิจกรรมนอกหลักสูตรเช่น ชมรมออกกำลังกาย ดนตรี การส่งเสริมให้มีการเรียนนอกห้องเรียนเช่น ในวิชาวิทยาศาสตร์ หรือการไปทัศนศึกษานอกสถานที่ กิจกรรมจิตอาสา การดูแลรักษาความสะอาดในโรงเรียน รวมถึงการสนับสนุนให้นักเรียนเดินทางมาโรงเรียนด้วยตนเอง โดยกระทรวงศึกษาธิการได้ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า  สสส. มุ่งหวังให้คนไทยมีสุขภาพที่ดี หนึ่งในนั้นคือ การส่งเสริมให้คนไทยในแต่ละกลุ่มวัยมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ หรือส่งเสริมการขยับเคลื่อนไหวร่างกายในชีวิตประจำวัน พร้อมกับส่งเสริมสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย ซึ่งกลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มที่ควรเฝ้าจับตาเพราะเป็นกลุ่มที่มีกิจกรรมทางกายน้อยที่สุด โดยวัยเด็กและเยาวชนมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ อย่างน้อย 60 นาทีต่อวัน เพียงร้อยละ27 เท่านั้น ขณะที่กลุ่มวัยผู้ใหญ่ มีกิจกรรมทางกายเพียงพออยู่ที่ ร้อยละ71 และผู้สูงอายุ อยู่ที่ร้อยละ 70

ดร.สุปรีดากล่าวต่อว่า การส่งเสริมให้เกิดการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอในแต่ละช่วงวัย สสส.จึงทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งในมิติช่วงวัยและมิติเชิงพื้นที่ อาทิ ในกลุ่มวัยเรียน ได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในชั่วโมงลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเดินทางมาโรงเรียนด้วยการใช้การเดิน การขี่จักรยาน ในกลุ่มวัยทำงาน ได้เกิดองค์กรส่งเสริมสุขภาพ รวมถึงการทำงานระดับพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่องค์กรปกครองท้องถิ่น 2,000 แห่ง พร้อมกับส่งเสริมการรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักในสังคม อาทิการสื่อสารความรู้เรื่องการมีกิจกรรมทางกายที่ถูกวิธีผ่านการเดินวิ่งเพื่อสุขภาพ การพัฒนาชุดความรู้ แนวทางการสนับสนุนต้นแบบสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย ซึ่งสสส.ยินดีให้การสนับสนุนการขับเคลื่อนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ตามแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ฯ ฉบับที่ 1 อย่างเต็มที่

ด้านนายธนา ยันตรโกวิท รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า การจะส่งเสริมให้ประชาชนมีกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวัน จำเป็นต้องสร้างสภาพแวดล้อมในชุมชนให้เอื้อต่อการขยับเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น การจัดสรรพื้นที่ทางเดินเท้า ทางจักรยาน สวนสาธารณะ สถานที่ออกกำลังกาย สระว่ายน้ำ สถานที่ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การวางผังเมืองให้เอื้อต่อการเดินหรือการใช้บริการขนส่งสาธารณะแทนรถส่วนตัว รวมทั้งส่งเสริมการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ให้ประชาชนทุกกลุ่มวัย เช่น งานเดินวิ่งปั่นเพื่อสุขภาพ งานประเพณี ชมรมออกกำลังกาย ชมรมผู้สูงอายุ เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้เป็นตัวเชื่อมร้อยสังคมเข้าด้วยกัน โดยกระทรวงมหาดไทย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่

ด้านนายวรรณรัตน์ ศรีสุกใส ผู้อำนวยการกองความปลอดภัยแรงงาน กล่าวว่า การมีกิจกรรมทางกาย ช่วยทำให้ประชาชนวัยทำงานมีร่างกายที่แข็งแรง เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน กระทรวงแรงงานได้ส่งเสริมให้มีกิจกรรมออกกำลังกายในสถานที่ทำงาน โดยสนับสนุนให้มีการจัดสวนหย่อม ทางเดินวิ่ง อุปกรณ์ออกกำลังกาย มีชมรมแอโรบิก จัดงานแข่งขันนับจำนวนก้าวในสถานที่ทำงาน รวมถึงสนับสนุนการใช้บันไดแทนลิฟต์ การลุกยืนขยับร่างกายบ่อย ๆ ระหว่างการนั่งทำงาน ซึ่งได้รับการตอบรับนโยบายจากสถานประกอบการต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ