วันที่ 27 กรกฎาคม 2563 นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูฝนมา 2 เดือนเศษแล้ว แต่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ เขื่อนเก็บน้ำขนาดใหญ่ และพื้นที่ที่การเกษตรยังมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยเมื่อวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา ได้ขึ้นบินสำรวจพื้นที่การเกษตรบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ จ.บุรีรัมย์ จ.สุรินทร์ และ จ.ร้อยเอ็ด พบว่า พื้นที่การเกษตรบริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยเฉพาะนาข้าว แต่อย่างไรก็ตามหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทั้ง 11 หน่วยที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพบก กองทัพอากาศ ในด้านอากาศยาน และกำลังพลยังปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป
สำหรับผลการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวานนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงจำนวน 9 หน่วยปฏิบัติการ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรของ จ.เชียงใหม่ พะเยา ลำปาง เชียงราย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ ลพบุรี สระบุรี นครสวรรค์ อุทัยธานี นครราชสีมา กาญจนบุรี สุพรรณบุรี อุทัยธานี เลย สุรินทร์ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สระแก้ว ปราจีนบุรี กระบี่ พื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนจำนวน 7 แห่ง และอ่างเก็บน้ำจำนวน 8 แห่ง
ด้านแผนการปฏิบัติการฝนหลวงประจำวันที่ 27 กรกฎาคม 2563 จากข้อมูลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยออกประกาศเขตพื้นที่ภัยแล้ง มีจำนวน 2 จังหวัด (15 อำเภอ 95 ตำบล 1 เทศบาล 838 หมู่บ้าน/ชุมชน) ได้แก่ จ.ชัยภูมิ และ จ.อุทัยธานี ขณะที่ข้อมูลปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30 % ของปริมาณน้ำใช้การ เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 34 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 223 แห่ง
ด้านประกาศแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักส่วนใหญ่อยู่ที่บริเวณภาคใต้ สำหรับข้อมูลการขอรับบริการฝนหลวงจากทั่วประเทศ ณ วันที่ 26 ก.ค. 2563 พบว่ามีผู้ขอรับบริการฝนหลวง จำนวน 1,308 แห่ง (56 จังหวัด 463 อำเภอ) กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค ขณะที่ปริมาณน้ำฝนสะสมรายสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า บริเวณพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางส่วนมีปริมาณน้ำฝนสะสะสมค่อนข้างน้อย อยู่ในระดับต่ำกว่า 10 มิลลิเมตร ซึ่งกรมฝนหลวงฯ จะนำข้อมูลดังกล่าวมาวางแผนและขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงเสริมให้มีปริมาณฝนตกให้กับพื้นที่ที่มีความต้องการน้ำอย่างทั่วถึง
ส่วนการติดตามสภาพอากาศเพื่อวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวงในวันนี้ ผลการตรวจอากาศจากสถานีเรดาร์ในพื้นที่ภาคกลาง เข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง ในช่วงเช้าจึงวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง 2 หน่วยปฏิบัติการ ดังนี้
– หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.ลพบุรี ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี อุทัยธานี
– หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.กาญจนบุรี ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.กาญจนบุรี สุพรรณบุรี อุทัยธานี ชัยนาท และพื้นที่ลุ่มรับน้ำในพื้นที่ภาคกลาง
อย่างไรก็ตาม สำหรับหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงอีก 9 หน่วยฯ ขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เข้าเงื่อนไขปฏิบัติการฝนหลวง จะวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบต่อไป
……………………………………………………
กรมฝนหลวงและการบินเกษตร
27 กรกฎาคม 2563