พม. ส่งเสริมความสง่างามของประเทศไทยในเวทีโลก เร่งสร้างความตระหนักรู้เรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศแก่ประชาชน

ในวันที่ 10 กันยายน 2561 เวลา 09.00 น. ณ ห้องปริ้นซ์บอลรูม 2 – 3 อาคาร 1 ชั้น 11 โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ให้เกียรติเป็นประธานเปิดโครงการสร้างความตระหนักรู้เรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศ และกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ความเท่าเทียมระหว่างเพศ : จากแนวคิดสู่นโยบาย” กล่าวรายงานโดย นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย หรือผู้ที่แสดงออกแตกต่างจากเพศโดยกำเนิด ได้รับรู้เรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศอย่างถูกต้อง และมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการการสร้างระบบอำนวยความสะดวกในการยื่นเรื่องร้องเรียน และกำหนดนโยบายและมาตรการเพื่อคุ้มครองผู้ถูกเลือกปฏิบัติอีกด้วย

พลเอก อนันตพร กล่าวว่า เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2561 พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ (สทพ.) ตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ได้กล่าวต่อที่ประชุมคณะกรรมการ สทพ. ว่า “เรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศ เป็นเรื่องที่ประเทศไทยให้ความสำคัญ จึงเป็นความสง่างามที่เราจะได้อยู่ในกระแสที่เวทีระดับโลกยอมรับ พร้อมมอบนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาการขับเคลื่อนงานตามพระราชบัญญัติฯ” ซึ่ง ผมเองในฐานะรองประธานคณะกรรมการ สทพ. และในฐานะ รมว.พม. ได้น้อมรับนโยบายดังกล่าวมาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม โดยมอบหมายให้กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) เร่งสร้างความตระหนักรู้เรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศให้แก่ประชาชนได้เข้าใจอย่างถูกต้อง จึงได้จัดงานในวันนี้ขึ้น เพราะถึงแม้ว่าพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 จะมีผลบังคับใช้ผ่านมาแล้ว 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2558 แต่สถานการณ์การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศก็ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่หลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผู้หญิงที่ถูกเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน เนื่องจากนายจ้างเห็นว่าผู้หญิงต้องตั้งครรภ์และคลอดบุตร ตลอดจนกลุ่มผู้ที่แสดงออกแตกต่างจากเพศโดยกำเนิดก็ถูกเลือกปฏิบัติในการจ้างงานด้วยเช่นกัน รวมถึงการไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย

พลเอก อนันตพร กล่าวต่ออีกว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว คณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ (สทพ.) ได้ร่วมกันพิจารณา พบว่า สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะ 1) สังคมยังขาดการรับรู้เกี่ยวกับพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 และกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ 2) คนในสังคมมีต้นทุนที่แตกต่างกัน ดังนั้น แม้จะมีการรับรู้แต่ก็อาจจะไม่มีความกล้าหาญมากพอที่จะเข้ามาใช้ช่องทางเพื่อช่วยเหลือตนเอง 3) คนที่รับรู้และตั้งใจเข้ามาใช้บริการ แต่ติดเงื่อนไขทางเอกสารที่มีความยากต่อการทำความเข้าใจ ทำให้ผู้รับบริการไม่สะดวกที่จะขอรับบริการความช่วยเหลือ 4) การสร้างการรับรู้ที่ผ่านมาสร้างความเข้าใจผิดว่า พระราชบัญญัติฯ เป็นกฎหมายเฉพาะของคนบางกลุ่ม ดังนั้น คนกลุ่มอื่น ๆ จึงไม่ได้เข้ามาร่วมใช้ประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้ จึงจำเป็นต้องเร่งสร้างการรับรู้ที่รวมคนทุกกลุ่มให้สามารถเข้าถึงสิทธิและประโยชน์ได้อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อเป็นการเสริมพลังสำหรับผู้เสียหายกลุ่มที่ยังไม่มีความกล้าหาญเพียงพอที่จะใช้สิทธิ รวมถึงควรมีการปรับปรุง ระเบียบ กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงสิทธิ ตลอดจนสร้างเครือข่ายหน่วยงาน/องค์กร เพื่อช่วยเผยแพร่และทำให้การรับรู้ขยายสู่วงกว้างมากยิ่งขึ้น

“การขจัดการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มที่แตกต่าง ก็ย่อมต้องคำนึงถึงความแตกต่าง เราในฐานะผู้ปฏิบัติการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ต้องไม่เหมารวมว่า ปัญหาการถูกเลือกปฏิบัติของผู้หญิงและบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศนั้นเหมือนกัน แม้จะมีประเด็นปัญหาบางประการที่คล้ายคลึงกัน เช่น เรื่องงาน การศึกษา และสุขภาพอนามัย แต่สาเหตุของปัญหาอันเป็นพื้นฐานสำคัญของการกำหนดโยบาย มาตรการ ต่าง ๆ ย่อมต้องพิจารณาถึงความแตกต่าง ดังนั้น ความละเอียดอ่อนต่อการกำหนดประเด็นปัญหาเพื่อนำมาพัฒนาเป็นนโยบายนั้น ต้องทำให้ได้ครอบคลุมทุกมิติของชีวิต และมิติของการดำเนินงาน เหล่านี้ถือเป็นภารกิจที่สำคัญ เพื่อตอบต่อหลักการสากล และพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558” พลเอก อนันตพร กล่าวทิ้งท้าย

ทางด้าน นายเลิศปัญญา ได้กล่าวถึงการกิจกรรมในวันนี้ ซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนที่หนึ่ง การสร้างความรู้ความเข้าใจ โดย มีการปาฐกถาพิเศษของรองประธานกรรมการ สทพ. การอภิปรายของผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการภายใต้พระราชบัญญัติฯ โดยได้รับเกียรติจาก คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ นายประเสริฐ กาญจนอุทัย อนุกรรมการด้านกฎหมาย สทพ. ศาสตราจารย์ มาลี พฤกษ์พงศาวลี ประธานกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ และนางสาวสุพัตรา ภู่ธนานุสรณ์ กรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ มาร่วมเป็นวิทยากร ดำเนินรายการโดย นางรัตนา สัยยะนิฐี ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถานภาพสตรีแห่งชาติ และส่วนที่สอง การสร้างความตระหนักผ่านการจัดแสดงนิทรรศการสถานการณ์การเลือกปฏิบัติในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีการประชุมกลุ่มย่อยของกลุ่มเป้าหมายที่มีแนวโน้มจะถูกเลือกปฏิบัติ ได้แก่ กลุ่มแรงงานในระบบและนอกระบบ กลุ่มผู้หญิงที่มีอาชีพไม่มั่นคง กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และกลุ่มที่ต้องมีความละเอียดอ่อนต่อการเลือกปฏิบัติ ได้แก่ กลุ่มสื่อมวลชน และกลุ่มสถาบันการศึกษา โดยผลที่ได้จากการจัดงาน นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นผู้สรุปทิศทางการดำเนินงานของ สทพ. จากภาพรวมของการจัดงานด้วย

“ความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน ถือเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม และความเสมอภาคในสังคม หากท่านใดรู้ว่าถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ สามารถโทรแจ้ง 1300 ได้เป็นลำดับแรก ซึ่ง 1300 จะรับเรื่อง และประสานส่งต่อให้ผู้มีอำนาจวินิจฉัยดำเนินการต่อไป หรือ ถ้าอยู่ต่างจังหวัดสามารถเดินทางไปที่สำนักงานนพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทุกจังหวัดได้เลย หรือ ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว 8 ศูนย์ ที่อยู่ในความรับผิดชอบดูแลของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว” นายเลิศปัญญา กล่าวในตอนท้าย

———————-