กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนผู้ปกครองดูแลบุตรหลานใกล้ชิด อย่าชะล่าใจปล่อยให้เด็กอยู่ตามลำพัง แม้เพียงเวลาสั้นๆ ก็ตาม ระวังสัตว์หรือสัตว์เลี้ยงในบ้าน กัด ข่วน เนื่องจากสัตว์ไม่คุ้นชินอาจจะทำอันตรายเด็กได้ แนะประชาชนยึดหลัก “คาถา 5 ย.” เพื่อลดความเสี่ยงการรับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า และสั่งการให้ทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) จาก สคร. 11 นครศรีธรรมราช ร่วมลงพื้นที่สอบสวนโรคทันที
วันที่ 8 กันยายน 2561 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีเด็กทารกถูกสุนัขกัดขณะนอนหลับในบ้าน นั้น กรมควบคุมโรค ได้สั่งการให้ทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) จากสำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) ที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมลงพื้นที่กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อดำเนินการสอบสวนโรค เร่งค้นหา ติดตามผู้สัมผัสโรค ผู้สัมผัสสุนัขให้เข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ครบถ้วน รวมถึงการสื่อสารให้ความรู้และวิธีป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแก่ประชาชนในพื้นที่ ส่วนเด็กทารกรายดังกล่าว ในขณะนี้อยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด และได้รับการรักษาตามมาตรฐาน รวมถึงมีการให้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว
กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำผู้ปกครอง ผู้ดูแลเด็กเล็ก ระมัดระวังและดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด อย่าได้ชะล่าใจปล่อยให้เด็กเล็กอยู่ตามลำพังหรือนอนคนเดียว แม้เพียงเวลาสั้นๆ หรือทำธุระไม่นานก็ตาม ขอให้ระวังสัตว์ สัตว์จรจัด หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงในบ้าน เช่น สุนัข แมว โค กระบือ กระรอก เป็นต้น ที่อาจกัดหรือข่วน เนื่องจากสัตว์ไม่คุ้นชินอาจจะทำอันตรายเด็กได้ หรือหากจำเป็นต้องให้บุตรหลานอยู่ลำพังในเวลาสั้นๆ ควรให้อยู่ภายในบ้าน และปิดประตูมิดชิด ไม่ให้สัตว์เข้าได้
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า หากประชาชนถูกสุนัข แมวกัด ข่วน หรือเลียบาดแผล แม้เพียงเล็กน้อย ควรรีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ทันทีหลายๆ ครั้ง ประมาณ 10 นาที ใส่ยาเบตาดีน เพื่อลดการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า จากนั้นรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อวินิจฉัยและรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หากฉีดวัคซีนแล้วควรไปตามนัดทุกครั้ง นอกจากนี้ ควรสังเกตสุนัขว่ามีอาการผิดปกติหรือตายใน 10 วันหรือไม่ ภายหลังสุนัขตัวนั้นไปกัดข่วนคน ต้องรีบไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ทั้งนี้ ขอให้ยึดหลัก “คาถา 5 ย.” ดังนี้ 1.อย่าเหยียบ บริเวณลำตัว ขา หรือหางของสัตว์ 2.อย่าแยก สัตว์ที่กำลังกัดกัน 3.อย่าแหย่ สัตว์เพราะอาจโดนข่วนหรือกัดได้ 4.อย่าหยิบ อาหารขณะสัตว์กำลังกิน และ 5.อย่ายุ่ง กับสัตว์ที่ไม่รู้จักคุ้นเคย เพื่อลดความเสี่ยงการรับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
*************************************************
ข้อมูลจาก: สำนักโรคติดต่อทั่วไป / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค