กระทรวงแรงงาน นัดสถานประกอบกิจการ 20 แห่งร่วมประชุมหารือแนวทางแก้ไขผลกระทบ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
วันที่ 22 กรกฎาคม 2563 นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน หารือร่วมกับสถานประกอบกิจการที่อยู่ในข่ายบังคับตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2557 เพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอจากสถานประกอบกิจการที่ได้รับผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19
โดยในวันนี้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้เชิญสถานประกอบกิจการ จำนวน 20 แห่ง เข้าพบเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาด้านแรงงาน เป็นสถานประกอบกิจการทั้งขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ครอบคลุมลูกจ้างรวมกันกว่า 200,000 คน เช่น บริษัท บุญดวง จำกัด บริษัท ซีพี ออยล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด บริษัท ที อาร์ ดับบลิว เอเชียติ๊ก จำกัด ครอบคลุมธุรกิจ ด้านการโรงแรม บริการให้เช่ารถยนต์ ร้านสะดวกซื้อ ก่อสร้างอุตสาหกรรมการผลิต และธนาคาร
นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวต่อไปว่า กพร.ได้มีมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่สถานประกอบกิจการ อาทิ ลดอัตราดอกเบี้ย ขยายระยะเวลาชำระหนี้สิน เลื่อนกำหนดวันชำระหนี้ ปลอดเวลาการชำระคืนงวดแรก ให้กับสถานประกอบกิจการที่กู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน หรือการจ่ายเงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนแก่สถานประกอบกิจการที่จัดฝึกอบรมให้แก่ลูกจ้างเกินกว่าร้อยละ 70 ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมด เป็นต้น จากการหารือในครั้งนี้ทำให้ทราบปัญหาและแนวทางแก้ไขเพื่อให้ความช่วยเหลือสถานประกอบกิจการได้อย่างตรงจุด ทั้งนี้ การให้ความช่วยเหลือต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของ พ.ร.บ.ส่งเสริมฯ พ.ศ. 2545 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557
“จากนี้จะได้เน้นย้ำให้หน่วยงานในสังกัดทั้งสถาบัน และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน ทั้งประเทศลงพื้นที่สถานประกอบกิจการเข้าไปติดตามสถานการณ์ให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น พร้อมทั้งแนะนำสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่สถานประกอบกิจการจะได้รับตามมาตรการให้ความช่วยเหลือของ กพร. เชื่อมั่นว่ามาตรการต่างๆที่ได้ดำเนินการไปแล้วนั้นจะเห็นผลเป็นรูปธรรมในช่วยที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย” อธิบดี กพร.กล่าวทิ้งท้าย …………………………………………………………………………..