รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีคำสั่งที่ 1213/2561 ลงวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2561 ให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ของบริษัท เจ้าพระยาประกันภัย จำกัด (มหาชน) แล้ว โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 59 (1) (2) และ (5) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ขอชี้แจงข้อเท็จจริงข้อกฎหมายและความเป็นมาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ตลอดจนได้เตรียมมาตรการต่างๆเพื่อรองรับมิให้ผู้เอาประกันภัยและประชาชนได้รับผลกระทบดังนี้
1. ตามที่ปรากฏหลักฐานต่อนายทะเบียนว่า บริษัท เจ้าพระยาประกันภัย จำกัด (มหาชน) มีฐานะการเงินไม่มั่นคงจากการดำรงเงินกองทุนไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด มีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน และยื่นงบการเงินและรายงานเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงหลายครั้ง มีพฤติกรรมปิดบังซ่อนเร้นฐานะการเงินหรือการดำเนินการ โดยบันทึกรายการหนี้สินจากการประกันภัยต่อและเงินสำรองค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับรายงานแล้ว ต่ำกว่าความเป็นจริง ทำให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ไม่ทราบฐานะการเงิน ที่แท้จริงของบริษัท และไม่สามารถมั่นใจได้ว่าบริษัทมีความสามารถในการชำระภาระผูกพันที่มีต่อ ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชนได้ จึงเป็นกรณีที่บริษัท เจ้าพระยาประกันภัย จำกัด (มหาชน) มีฐานะหรือการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน และ มีเหตุสมควรที่จะสั่งให้หยุดรับประกันภัยวินาศภัยเป็นการชั่วคราว นายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ตามมติที่ประชุมครั้งที่ 3/2561 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2561 จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 มีคำสั่งที่ 17/2561 ลงวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2561 สั่งให้บริษัทหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว และสั่งการให้บริษัทแก้ไขฐานะและการดำเนินการ ดังต่อไปนี้ ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2561
1.1 ดำรงเงินกองทุนให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด
1.2 ยื่นรายงานประมาณการฐานะการเงินและความเพียงพอของเงินกองทุนเป็นรายไตรมาสเป็นระยะเวลา 1 ปี เริ่มตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ของปี พ.ศ. 2561
1.3 ปรับปรุงการบันทึกรายการบัญชีให้ถูกต้องตรงต่อความเป็นจริง เพื่อให้งบการเงินของบริษัท มีความน่าเชื่อถือและผ่านการรับรองจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาตที่แสดงความเห็นแบบไม่มีเงื่อนไข หรือแบบมีเงื่อนไข ในลักษณะที่ไม่เป็นเหตุให้บริษัทมีฐานะการเงินหรือการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุ ให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน
1.4 จัดให้มีระบบงานและบุคลากรที่มีคุณภาพ ได้แก่ ระบบบัญชีการเงิน ระบบการรับเงินจ่ายเงิน ระบบการจัดการค่าสินไหมทดแทน ระบบการบริหารความเสี่ยง ระบบการควบคุมภายในที่เหมาะสมและเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และให้มีคู่มือการปฏิบัติงานของพนักงานอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมทั้งให้มีการทดสอบระบบงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
2. ต่อมานายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ตามมติที่ประชุมครั้งที่ 7/2561 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2561 มีคำสั่งที่ 35/2561 ลงวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2561 ให้ขยายระยะเวลาการแก้ไขฐานะและการดำเนินงานตามที่บริษัท เจ้าพระยาประกันภัย จำกัด (มหาชน) ร้องขอ โดยให้ขยายถึงวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2561 ทั้งนี้ หากปรากฏหลักฐานต่อนายทะเบียนว่า เจ้าหนี้ของบริษัทได้ตกลงหรือยินยอมเข้าร่วมโครงการแปลงหนี้เป็นทุนกับบริษัทตามคำร้องขอขยายระยะเวลา ภายในวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2561 ให้ขยายระยะเวลาแก้ไขฐานะและการดำเนินการออกไปจนถึงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2561 และบริษัทยังคงอยู่ภายใต้คำสั่งหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว แต่หากเจ้าหนี้ของบริษัทดังกล่าว ไม่ตกลงหรือยินยอมเข้าร่วมโครงการแปลงหนี้เป็นทุนของบริษัท ภายในวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2561 นายทะเบียน จะนำเสนอคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยเพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายโดยเคร่งครัดต่อไป ทั้งนี้ ได้มีการแจ้งให้บริษัททราบเงื่อนไขดังกล่าวแล้ว
3. ปรากฏว่า เมื่อครบกำหนดระยะเวลาในวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2561 ไม่ปรากฏหลักฐานต่อนายทะเบียนว่า เจ้าหนี้ของบริษัทได้ตกลงหรือยินยอมเข้าร่วมโครงการแปลงหนี้เป็นทุนกับบริษัทแต่อย่างใด อีกทั้งบริษัทยังคงไม่สามารถแก้ไขปัญหาฐานะและการดำเนินการได้ครบถ้วน ได้แก่ ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด โดยปรากฏตามรายงานเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานที่บริษัทนำส่งให้สำนักงาน คปภ. ณ วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2561 มีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน จำนวน 267.78 ล้านบาท มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน จำนวนร้อยละ -210.28 จัดสรรเงินสำรองตามมาตรา 23 และจัดสรรสินทรัพย์ไว้สำหรับหนี้สินและภาระผูกพันตามสัญญาประกันภัย ตามมาตรา 27/4 ไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด จำนวน 79.44 ล้านบาท และ 157.18 ล้านบาท ตามลำดับ แม้ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตรวจสอบและรับรองงบการเงิน ณ วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2561 แต่รายงานของผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแสดงความเห็นแบบมีเงื่อนไขเกี่ยวกับความสามารถในการดำเนินงานต่อเนื่องอันเป็นสาระสำคัญ เนื่องจาก บริษัทมีหนี้สินรวมสูงกว่าทรัพย์สิน 267.78 ล้านบาท ซึ่งการให้ความเห็นแบบมีเงื่อนไขดังกล่าวเป็นลักษณะที่เป็นเหตุให้บริษัทมีฐานะการเงินหรือการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกจประกันภัย ในการประชุมครั้งที่ 10/2561 วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2561 จึงมีมติให้เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณามีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท เจ้าพระยาประกันภัย จำกัด (มหาชน)
4. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่า บริษัท เจ้าพระยาประกันภัย จำกัด (มหาชน) มีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน มีฐานะการเงินไม่มั่นคง ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด มีการกระทำที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมายหลายประการ ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน และไม่สามารถแก้ไขปัญหาสำคัญของบริษัทได้ภายในระยะเวลาที่สมควร ถ้าให้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยต่อไป จะทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนหรือผู้เอาประกันภัย ตลอดจนความน่าเชื่อถือของธุรกิจประกันภัย ดังนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 59 (1) (2) และ (5) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท เจ้าพระยาประกันภัย จำกัด (มหาชน) และหากบริษัทไม่เห็นด้วยกับคำสั่งนี้ มีสิทธิเสนอคำฟ้องยื่นต่อศาลปกครองกลางภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่ง
5. ในการนี้ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 60 และมาตรา 62 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 แต่งตั้งให้กองทุนประกันวินาศภัย เป็นผู้ชำระบัญชี
6. เนื่องจากการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของ บริษัท เจ้าพระยาประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นปัญหาฐานะการเงินและการจัดการภายในของบริษัทจึงไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงินหรือสภาพคล่องของบริษัทประกันวินาศภัยอื่น หรือธุรกิจประกันภัยในภาพรวมแต่อย่างใด ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้เตรียมมาตรการที่จะช่วยเหลือผู้เอาประกันภัย เพื่อรองรับมิให้ผู้เอาประกันภัยได้รับผลกระทบไว้แล้ว
7. สำหรับแนวทางการช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยและประชาชน สำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการ ดังนี้
7.1 สำนักงาน คปภ. ได้รับความร่วมมือจากบริษัทประกันวินาศภัย จำนวน 26 บริษัท ที่ยินดีรับโอนกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ที่ยังมีผลผูกพันของผู้เอาประกันภัยที่ได้ทำไว้กับบริษัท เจ้าพระยาประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดยมีเงื่อนไข ดังนี้
– กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ (ภาคสมัครใจ) ผู้เอาประกันภัยสามารถขอทำประกันภัยสำหรับความคุ้มครองตามระยะเวลาของกรมธรรม์เดิม โดยบริษัทจะขยายระยะเวลาความคุ้มครองเพิ่มเติมให้เท่ากับระยะเวลาที่เหลืออยู่ โดยไม่คิดค่าเบี้ยประกันภัยเพิ่ม หรือ ผู้เอาประกันภัยสามารถขอทำประกันภัยสำหรับความคุ้มครอง 1 ปี โดยบริษัทประกันภัยจะให้ส่วนลดเบี้ยประกันภัยเท่ากับจำนวนเบี้ยประกันภัยตามส่วนเฉลี่ยของระยะเวลาประกันภัยที่เหลืออยู่ตามกรมธรรม์เดิม ทั้งนี้ ส่วนลดที่จะให้แก่ผู้เอาประกันภัยจะไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของเบี้ยประกันภัยเต็มปีของกรมธรรม์ประกันภัยเดิม
– กรมธรรม์ประกันภัยประเภทอื่น ๆ นอกเหนือจากกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ (ภาคสมัครใจ) ผู้เอาประกันภัยสามารถขอทำประกันภัยสำหรับความคุ้มครองตามระยะเวลาของกรมธรรม์เดิม โดยบริษัทจะขยายระยะเวลาความคุ้มครองเพิ่มเติมให้เท่ากับระยะเวลาที่เหลืออยู่ โดยไม่คิดค่าเบี้ยประกันภัยเพิ่ม
ทั้งนี้ ผู้เอาประกันภัยจะต้องโอนสิทธิที่จะได้รับเบี้ยประกันภัยสำหรับระยะเวลาที่เหลือจากกองทุนประกันวินาศภัย ในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัท เจ้าพระยาประกันภัย จำกัด (มหาชน) ให้แก่บริษัทที่รับโอนกรมธรรม์ประกันภัยนั้นด้วย สำหรับกรณีที่กรมธรรม์ประกันภัยมีความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดของกองทุนประกันวินาศภัย ในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัท เจ้าพระยาประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดยสำนักงาน คปภ. ในทุกพื้นที่ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคจะทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานและอำนวยความสะดวกแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชนเป็นเบื้องต้น
7.2 สำหรับผู้เป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยของบริษัท ให้ยื่นขอรับชำระหนี้ต่อกองทุนประกันวินาศภัย ในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัท เจ้าพระยาประกันภัย จำกัด (มหาชน) ภายใน 60 วันนับแต่วันที่กองทุนประกันวินาศภัยกำหนดในประกาศ โดยให้นำเอกสารต้นฉบับพร้อมทั้งสำเนา จำนวน 2 ชุด ประกอบการยื่นขอรับชำระหนี้ ดังนี้ กรมธรรม์ประกันภัย บัตรประจำตัวประชาชน ใบเคลม ใบนัดชำระหนี้ หรือเอกสารอื่นใดที่แสดงถึงมูลหนี้ หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีเป็นนิติบุคคล)
7.3 สำหรับเจ้าหนี้อื่นที่ไม่ใช่เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัย ให้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อกองทุนประกันวินาศภัยในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัท เจ้าพระยาประกันภัย จำกัด (มหาชน) ภายใน 60 วันนับแต่วันที่กองทุนประกันวินาศภัยกำหนดในประกาศ พร้อมทั้งนำเอกสารแสดงความเป็นเจ้าหนี้ ต้นฉบับพร้อมทั้งสำเนา จำนวน 1 ชุด ประกอบการยื่นขอรับชำระหนี้ ดังนี้ หลักฐานแสดงถึงมูลหนี้ บัตรประจำตัวประชาชน หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีเป็นนิติบุคคล)
7.4 หากเจ้าหนี้ไม่สามารถยื่นได้ด้วยตนเอง จะต้องมีหนังสือมอบอำนาจโดยติดอากรแสตมป์ 30 บาท พร้อมกับสำเนาบัตรประชาชนผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ ยื่นต่อกองทุนประกันวินาศภัย ในฐานะ ผู้ชำระบัญชีของบริษัท เจ้าพระยาประกันภัย จำกัด (มหาชน)
สถานที่ที่สามารถยื่นคำขอรับชำระหนี้ มีดังต่อไปนี้
ส่วนกลาง ยื่นได้ 3 แห่ง ดังนี้
(1) กองทุนประกันวินาศภัย อาคารชินวัตรทาวเวอร์ 3 ชั้น 15 เลขที่ 1010 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 หมายเลขโทรศัพท์ 0-2791-1444 ต่อ 11-15 และ 21-24
(2) สำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ เลขที่ 287 ซอยรัชดาภิเษก 6 ถนนรัชดาภิเษก-ท่าพระ
แขวงบุคคโล เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร 10600 หมายเลขโทรศัพท์ 0-2476-9940-3
(3) สำนักงาน คปภ. เขตบางนา เลขที่ 1/16 อาคารบางนาธานี ชั้น 8 ถนนบางนาตราด
กม.3 แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260 หมายเลขโทรศัพท์ 0-2361-3769-70
ในส่วนของพื้นที่ต่างจังหวัด สามารถยื่นขอรับชำระหนี้ได้ที่ สำนักงาน คปภ. ภาค และสำนักงาน คปภ. จังหวัด ทั่วประเทศ ทั้งนี้ เจ้าหนี้สามารถดาวน์โหลดแบบคำทวงหนี้ได้ที่ www.gif.or.th หัวข้อ “แบบฟอร์ม” ได้อีกด้วย
ปัจจุบันมีการจัดตั้งกองทุนประกันวินาศภัยขึ้น เพื่อช่วยเหลือเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย ในกรณีที่บริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย โดยเจ้าหนี้ฯมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากสัญญาประกันภัยจากกองทุนประกันวินาศภัย ซึ่งเมื่อรวมกับจำนวนที่ได้รับการเฉลี่ยจากหลักทรัพย์ประกันและเงินสำรองที่วางไว้กับนายทะเบียนแล้ว ไม่เกินรายละ 1 ล้านบาท
สำหรับรายชื่อบริษัทประกันวินาศภัยที่เข้าร่วมโครงการให้ความช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยสามารถ ดูได้จากเว็บไซต์ของสำนักงาน คปภ. (www.oic.or.th) หรือสอบถามได้ที่สายด่วน คปภ. 1186