วันที่ 20 ก.ค. 63 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ เป็นประธานในพิธีประกาศเจตนารมณ์การส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ พร้อมมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่หน่วยงานที่ร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์ฯ และมอบเกียรติบัตรแก่สหภาพแรงงานที่ร่วมสนับสนุนการประกาศเจตนารมณ์ฯ ทั้งนี้ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) กล่าวรายงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวง พม. ตัวแทนหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และพรรคการเมือง รวมจำนวน 39 หน่วยงาน เข้าร่วมงาน ณ ห้องประชุมชั้น 2 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว ถนนกรุงเกษม กรุงเทพฯ
นายจุรินทร์ กล่าวว่า การประกาศเจตนารมณ์ “การส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ” ในวันนี้ นับว่าเป็นการประกาศเจตนารมณ์ ฯ ครั้งที่ 2 ของประเทศไทย โดยครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2563 และมี 24 หน่วยงานจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ฯ เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะร่วมกันสร้างให้สังคมไทยตระหนักถึงความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ อีกทั้งป้องกันไม่ให้มีการกระทำใดๆ อันเป็นการแบ่งแยกกีดกัน หรือจำกัดสิทธิประโยชน์ เพียงเพราะบุคคลนั้น เป็นเพศชาย เพศหญิง หรือบุคคลที่แสดงออกแตกต่างจากเพศกำเนิด ทั้งนี้ จากการรายงานความก้าวหน้าของหน่วยงานที่ร่วมประกาศเจตนารมณ์ฯ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ที่ผ่านมา เช่น 1. จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดปทุมธานี ได้ประกาศเจตนารมณ์ เรื่องการส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติ โดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ และ 2. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศมีการพิจารณาเรื่องประกาศการแต่งกายตามเพศสภาพ การจัดทำห้องน้ำ All Gender ภายในมหาวิทยาลัย เป็นต้น นอกจากนี้ การดำเนินงานเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ ยังจำเป็นต้องเร่งรัดการดำเนินงาน 3 ประการ คือ 1) มุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์ พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ให้ทุกคนได้รับรู้และเข้าถึงง่าย 2) ปรับเจตคติและค่านิยมของคนในสังคมให้คำนึงถึงความเสมอภาคระหว่างเพศ และยอมรับความหลากหลายทางเพศ และ 3) ร่วมกันขจัดความรุนแรง และเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ผ่านกลไกของรัฐที่มีหน้าที่ตาม พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558
นายจุติ กล่าวต่อไปว่า กระทรวง พม. โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ได้ขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาศักยภาพสตรี การคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิสตรี และการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชาย อีกทั้งผลักดันให้มี พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2558 เป็นต้นมา สำหรับการประกาศเจตนารมณ์ฯ ในวันนี้ นับเป็นครั้งที่ 2 โดยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และพรรคการเมือง จำนวน 39 หน่วยงานเข้าร่วม ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายในการส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ และรณรงค์ปรับทัศนคติและสร้างการยอมรับของสังคมในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ
นายจุติ กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ พบว่า ภายหลังจากการประกาศเจตนารมณ์ฯ ครั้งแรก หน่วยงานที่ร่วมประกาศเจตนารมณ์ส่วนใหญ่ครบทั้ง 6 ด้าน ได้แก่ 1) การแต่งกาย ให้บุคลากรหรือนักศึกษาสามารถแต่งกายตามลักษณะเฉพาะทางเพศ ตามข้อบังคับของหน่วยงานหรือสถาบันการศึกษา 2) การจัดพื้นที่ที่เหมาะสมและเอื้อต่อการใช้ประโยชน์สำหรับทุกเพศทุกวัย 3) การประกาศรับสมัครงานและกำหนดคุณสมบัติผู้สมัครงาน ไม่ควรระบุเพศ แต่ควรระบุคุณสมบัติในการปฏิบัติงานที่หน่วยงานต้องการอย่างชัดเจน 4) การใช้ภาษาและท่าทาง หน่วยงานต้องสร้างความรู้ความเข้าใจแก่บุคลากรเกี่ยวกับการใช้ถ้อยคำหรือภาษาที่เหมาะสมสำหรับใช้เรียกลักษณะเฉพาะทางเพศ หรือท่าทางที่ไม่ควรแสดงออกถึงการมีอคติทางเพศ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการตีตรา เสียดสี หรือลดทอนคุณค่าของบุคคลทุกเพศ 5) การสรรหาคณะกรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในหน่วยงาน ควรส่งเสริมให้คนทุกเพศได้มีโอกาสเข้าร่วมเป็นกรรมการในทุกระดับ และ 6) การป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน ควรให้ความรู้สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ และมีแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว
นายจุรินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอแสดงความชื่นชมกับทุกหน่วยงานที่เข้าร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์ “การส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ” ในวันนี้ และขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันดำเนินงานหรือกิจกรรมในการขับเคลื่อนการส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 เพื่อให้การดำเนินงานสามารถบรรลุผลตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาประเทศต่อไป
…………………………………………