วันที่ 19 มกราคม 2561 นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กล่าวแถลงถึงการอบรมหลักสูตร “โครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้แสดงความสามารถ” (หลักสูตรพื้นฐาน) ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 17 – 19 มกราคม 2561 ณ โรงแรมอะเดรียติก พาเลซ เขตราชเทวี กรุงเทพฯ
นางนภา กล่าวว่า กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เป็นเจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อนงานตามพระราชบัญญัติควบคุม การขอทาน พ.ศ. 2559 เพื่อแก้ปัญหาขอทานอย่างเป็นระบบ โดยกำหนดโทษผู้ที่แสวงหาประโยชน์จากการขอทาน ดำเนินการ คัดกรอง คุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ทำการขอทานอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งแยก “ผู้แสดงความสามารถ” ออกจากผู้ทำการขอทานอย่างชัดเจน เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้แสดงความสามารถได้พัฒนาทักษะและยกระดับการแสดงให้มีมาตรฐานสู่มืออาชีพ โดยนับตั้งแต่ พ.ร.บ. ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ มีผู้แสดงความสามารถแจ้งจดทะเบียนขอมีบัตรประจำตัวผู้แสดงความสามารถแล้ว จำนวน 2,682 ราย แบ่งเป็นการแสดงดนตรี 2,366 ราย นาฏศิลป์ 162 ราย ศิลปะ 8 ราย กายกรรม 4 ราย การละคร 2 ราย และอื่นๆ เช่น การแสดงมายากล เต้น Break Dace อีก 140 ราย ซึ่งเมื่อวันที่ 10 ม.ค.2561 ที่ผ่านมา กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการได้จัดกิจกรรมแถลงข่าวการขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพผู้แสดงความสามารถ “Thailand Public Talent Show” ณ บริเวณห้องโถง ชั้น1 กรม พส. โดยได้รับเกียรติจาก พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นประธานกิจกรรมแถลงข่าว
นางนภา กล่าวต่อว่า สำหรับการจัดอบรมหลักสูตร “โครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้แสดงความสามารถ” (หลักสูตรพื้นฐาน) ระหว่างวันที่ 17 – 19มกราคม 2561 ณ โรงแรมอะเดรียติก พาเลซ เขตราชเทวี กรุงเทพฯ ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้แสดงความสามารถให้มีทักษะความสามารถขั้นพื้นฐาน ด้านการพัฒนาบุคลิกภาพ การเสริมภาพลักษณ์ การแต่งกาย การบริหารจัดการ การวางแผนการเงิน และทราบเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ.2559 นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาความสามารถ นำไปสู่การ สร้างโอกาสในการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น และเป็นที่ยอมรับในสังคม โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม อาทิเช่น สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย จัดอบรมคนพิการที่เป็นผู้แสดงความสามารถ จำนวน 500 คน กิจกรรมการฝึกทักษะที่สำคัญ ประกอบด้วย การพัฒนาบุคลิกภาพ วิธีการแสดงที่ถูกต้อง การผ่อนคลายเพื่อมีสมาธิและการออกเสียงที่ถูกต้อง ซึ่งการอบรมในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรชั้นนำจากหลายสาขา อาทิเช่น ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านดุริยางค์สากล คีตศิลปิน ด้านการแสดงสำหรับผู้พิการทางการมองเห็น เป็นต้น
หลังจากสิ้นสุดการอบรมในครั้งนี้แล้ว กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการมีแผนในการพัฒนายกระดับฝีมือผู้แสดงความสามารถด้านดนตรี อีกจำนวน 3 รุ่น ๆ ละ50 คน รวม 150 คน ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เข้มข้นสู่การเป็นศิลปินมืออาชีพ รวมถึงคัดเลือก The Star เพื่อยกระดับสู่การแสดงในระดับประเทศต่อไป สำหรับผู้ที่ประสงค์จะทำบัตรผู้แสดงความสามารถ สามารถติดต่อที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพมหานคร ส่วนภูมิภาคติดต่อที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทุกจังหวัด การมีบัตรประจำตัวผู้แสดงความสามารถจะเป็นประโยชน์ในการคุ้มครองสิทธิของผู้แสดงความสามารถ ไม่ตกเป็นเหยื่อของผู้แสวงหาประโยชน์ และได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ในการพัฒนาและจัดหาสถานที่ในการแสดงความสามารถ นางนภา กล่าวตอนท้าย