นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สงครามการค้าสหรัฐฯ – จีน มีแนวโน้มยืดเยื้อ หลังการเจรจาสองฝ่ายยังไม่ได้ข้อยุติ ฝ่ายสหรัฐฯ ประธานาธิบดีทรัมป์ น่าจะใช้เรื่องสงครามการค้า เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากที่โดนโจมตีเรื่องปัญหาส่วนตัว และเพื่อรักษาฐานเสียงในการเลือกตั้งกลางเทอม (mid-term election) ที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ ทางฝ่ายจีนประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง พร้อมที่จะประกาศมาตรการตอบโต้ (ขึ้นภาษีสหรัฐฯ ร้อยละ 5-25 มูลค่ารวม 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพราะยังต้องการรักษาภาพลักษณ์ผู้นำจีนที่ยืนหยัดเข้มแข็งต่อชาติตะวันตก และมุ่งสร้างความมั่งคั่งให้จีนตามวิสัยทัศน์ Chinese dreams รวมทั้งอาจมองว่าสถานะด้านการเมืองของประธานาธิบดี ทรัมป์ ในอนาคตยังไม่แน่นอน
จีนน่าจะพร้อมรับมือกับการขึ้นภาษีรอบนี้ของสหรัฐฯ โดยหากมีการเก็บภาษีร้อยละ 25 จากสินค้านำเข้า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐจากจีน (ภายหลังการรับฟังความคิดเห็นที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในวันที่ 6 กันยายน 2561) จะคิดเป็นมูลค่าภาษี 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.4 ของ GDP จีนที่มีมูลค่าสูงถึง 12 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2560 และถึงแม้เศรษฐกิจจีน เช่น GDP และการส่งออกล่าสุดจะชะลอตัวเล็กน้อย แต่ยังมีปัจจัยด้านบวก คือ การบริโภคภายในประเทศ ที่ยังเติบโตดี ภาคการเงินที่กลับมาขยายตัว ภาคบริการที่เติบโตอย่างค่อนข้างมีเสถียรภาพ รวมถึงภาคเอกชนที่มีความยืดหยุ่นค่อนข้างดี โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อทั้งภาคการผลิตและไม่ใช่ภาคการผลิต (Manufacturing PMI และ Non-Manufacturing PMI) กระเตื้องขึ้นในเดือนสิงหาคม 2561 นอกจากนี้ จีน ยังประกาศใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ pro-growth และมุ่งรับมือสงครามการค้า โดยใช้มาตรการด้านการเงิน การคลัง มาตรการเพื่อกระตุ้นการลงทุนภาครัฐและเอกชน รวมถึงเพิ่มสภาพคล่องให้ SMEs และการรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อป้องกันไม่ให้เงินหยวนอ่อนค่ามากไป และป้องกันการไหลออกอย่างฉับพลันของเงินทุนต่างชาติ โดยประกาศให้สถาบันการเงินต้องตั้งเงินสำรองอัตราร้อยละ 20 สำหรับทำการซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า
สนค. ประเมินว่า แม้ไทยอาจได้รับผลกระทบทางอ้อมหากมีการขึ้นภาษีรอบใหม่ แต่ก็ยังมีโอกาสในการส่งออกสินค้าทดแทนสินค้าที่อยู่ในมาตรการ โดยกลุ่มสินค้าที่ไทยน่าจะมีโอกาสส่งออกไปทดแทนสินค้าจีน ในตลาดสหรัฐฯ มีหลายชนิด อาทิ สินค้าเกษตร เช่น ถั่วแห้ง แผ่นยางสดรมควัน ข้าวสี (rice milled) ยางแท่ง ผักผลไม้สด แช่แข็ง แช่เย็นและแปรรูป เช่น กล้วย เม็ดมะม่วงหิมพานต์ มะพร้าว ฝรั่ง มะม่วง มังคุด มะละกอ สับปะรด เป็นต้น อาหารทะเลแช่แข็ง และแปรรูป อาทิ ปลาทูน่าบิ๊กอาย (Big Eye Tuna) ปลาทูน่าท้องแถบ (Skipjack tuna) ปลาทูน่าครีบเหลืองสดและแช่แข็ง (Yellowfin tuna) เนื้อปลาแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ อาทิ น้ำผึ้งธรรมชาติ อาหารปรุงแต่งและเครื่องดื่ม อาทิ อาหารสุนัข/แมวสำหรับขายปลีก เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (ที่ไม่ใช่น้ำผลไม้) เคมีภัณฑ์และเม็ดพลาสติก อาทิ กรดซิตริก ยานยนต์และส่วนประกอบ อาทิ เครื่องยนต์สันดาปภายใน ยางรถยนต์ (Pneumatic Radial tyres) โดยสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออกทดแทนสินค้าจีนสูง ได้แก่ ข้าวสี ยางแท่ง มะพร้าว ฝรั่ง มะม่วง มังคุด น้ำผึ้งธรรมชาติ กรดซิตริก เครื่องยนต์สันดาปภายใน
นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวทิ้งท้ายว่า กระทรวงพาณิชย์ จะติดตามสถานการณ์การขึ้นภาษีรอบใหม่ของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้ประกอบการสำหรับการเตรียมความพร้อมรับมือต่อไป