กระทรวงพาณิชย์ โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ดำเนินโครงการ Strategic Partnership for Sister Cities ซึ่งเป็น Pilot Study ที่ศึกษาแนวทางการเชื่อมโยงห่วงโซ่มูลค่าระหว่างจังหวัดของไทยและเพื่อนบ้าน เพื่อร่วมกันพัฒนาความสามารถในการแข่งขันตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยได้ทดลองนำร่องกับ 4 กลุ่มสินค้าที่สามารถเชื่อมโยงกับเพื่อนบ้านได้ (Sister Clusters) ใน 4 กลุ่มจังหวัดชายแดน ได้แก่ ผลไม้แปรรูป (ภาคตะวันออก 2 – จ.ไพลิน) ผลิตภัณฑ์สมุนไพร (ภาคเหนือตอนบน 2 – รัฐฉาน) อาหารทะเลแปรรูป (ภาคกลางตอนล่าง 2 – จ.มะริด) และ โคเนื้อ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 – แขวงสะหวันนะเขต)
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง “CLMVT Sister Cities: จากเมืองคู่มิตร หุ้นส่วนเศรษฐกิจยุคใหม่” เมื่อวันที่ 5 ก.ย. ว่า CLMVT เป็นเศรษฐกิจผืนเดียวกันที่มีความสำคัญด้านเศรษฐกิจอย่างยิ่งในภูมิภาคนี้ กระทรวงพาณิชย์จึงมุ่งเน้นที่จะพัฒนาความสัมพันธ์และยกระดับการค้าระหว่างไทยและ CLMV ให้มากขึ้น โดยเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ก็จัดงาน CLMVT Forum 2018 ขึ้น และเล็งเห็นว่าควรส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงเป็น value chain และต่อยอดไปสู่ตลาดโลกให้ได้ ซึ่งต้องอาศัยการวางแผนเชิงพื้นที่ (Area-based & Joint Strategy) ร่วมกันระหว่างกลุ่มจังหวัดชายแดน โดยบ่งชี้กลุ่มสินค้าหรือคลัสเตอร์ที่สามารถนำศักยภาพมาเกื้อกูลกัน รวมทั้งกำหนดบทบาทของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดห่วงโซ่การผลิตและพันธมิตรการค้าไปสู่ตลาดเป้าหมาย(Local Link – Global Reach) ซึ่งโครงการนี้ได้มุ่งเน้นกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรซึ่งไทยมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและมาตรฐานต่างๆ ในขณะเดียวกัน ก็สามารถเอื้อประโยชน์ให้เกษตรกรรายย่อยทั้งในจังหวัดของไทยและในฝั่งเพื่อนบ้านได้เข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตสินค้าด้วย เพื่อเศรษฐกิจท้องถิ่นที่เติบโตไปด้วยกัน
ผลลัพธ์ของโครงการดังกล่าว ได้นำไปสู่การจับคู่ธุรกิจเพื่อผลิตสินค้าร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการของไทยและเพื่อนบ้าน อาทิ ผลิตภัณฑ์ผลไม้สองแผ่นดิน ซึ่งเป็น value chain ระหว่างโรงงานและธุรกิจล้งใน จ.จันทบุรี กับเครือข่ายเกษตรกรใน จ.ไพลินของกัมพูชา เป็นการนำจุดเด่นของสองประเทศมาเสริมกันและสร้างแบรนด์ให้อนุภูมิภาคนี้ กลายเป็นศูนย์กลางผลไม้ของโลก ในอนาคต มหาวิทยาลัยบูรพาและวิสาหกิจเพื่อสังคมในพื้นที่จะสานต่อความร่วมมือและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงขยายโอกาสไปสู่ตลาดต่างประเทศ
ในขณะเดียวกัน Sister Cluster ที่เกิดขึ้นระหว่างจังหวัดของไทยและเมียนมา ได้นำไปสู่การจับคู่พันธมิตรระหว่างเครือข่ายประมงในจังหวัดมะริดและสหกรณ์แปรรูปสัตว์น้ำใน จ.สมุทรสาคร รวมทั้งมีจัดทำ Digital Platform เพื่อเป็นสื่อกลางความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการของไทยและเครือข่ายในฝั่ง จ.มะริด ด้วย โดยเฉพาะในธุรกิจท่องเที่ยวและบริการต่างๆ ซึ่งภาคีที่มีบทบาทนำในตะเข็บชายแดนนี้คือสมาคมบ้านพี่เมืองน้องประจวบ-มะริด และมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี รวมถึงกลุ่มธุรกิจรุ่นใหม่หรือ Young Entrepreneur Chamber of Commerce (YEC) ของหอการค้าไทยที่เข้ามาจัดทำแอพลิเคชั่นชื่อ Town Portal – Myeik Province ซึ่งสามารถนำไปขยายผลที่เมืองคู่มิตรอื่นๆ ได้ด้วย
เช่นเดียวกับชายแดนไทย-เมียนมาในภาคเหนือ ผลลัพธ์ของโครงการฯ ได้นำไปสู่ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไฮบริดระหว่างรัฐฉานและเชียงราย โดยมีผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (YEN-D) มาเข้าร่วมโครงการและได้ร่วมมือกับเครือข่ายฺBizClub ใน จ.เชียงรายสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ผสมผสานระหว่างไพลของไทยและทานาคาของเมียนมา และพร้อมจะขยายผลไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ด้วย ภายใต้การสนับสนุนของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงและสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว สำหรับในภาคอีสาน โครงการฯ ได้พยายามเชื่อมโยงคลัสเตอร์โคเนื้อระหว่างกลุ่มจังหวัดสนุก (สกลนคร นครพนม และ มุกดาหาร) กับแขวงสะหวันนะเขตและคำม่วนของ สปป.ลาว ซึ่งในตะเข็บนี้พบว่ามีทั้งโอกาสและความท้าทายหลายประการที่ต้อง
อาศัยหน่วยงานส่วนกลางเข้ามาช่วยปลดล็อคเพื่ออำนวยความสะดวกและลดข้อจำกัดต่อไป ซึ่งกระทรวงต่างๆ ก็ได้มาแลกเปลี่ยนข้อเสนอแนะกันในการสัมมนา
ผอ.สนค. ได้กล่าวเน้นย้ำว่า ในอนาคต จังหวัดใน CLMVT ต้องร่วมกันวางยุทธศาสตร์รองรับเศรษฐกิจยุคใหม่ภายใต้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะเทคโนโลยีชีวภาพหรือ Bio-tech และ Agri-tech ที่จะเป็นโอกาสของเกษตรกรที่จะยกระดับรายได้ ซึ่งหาก CLMVT สามารถปรับตัวไปพร้อมกันได้อย่างรวดเร็วก็จะช่วยให้ผู้ผลิตรายย่อยในห่วงโซ่ได้เกาะเกี่ยวไปสู่ตลาดด้วย ส่งผลให้มีการบริโภคสินค้าและบริการของไทยเองในที่สุด ซึ่งผลการศึกษาและกรอบความร่วมมือที่ได้จากโครงการนี้สามารถนำไปปรับใช้เป็นแนวทางให้จังหวัดชายแดนอื่นๆ ต่อไปได้ด้วย ทั้งนี้ กลุ่มประเทศ CLMVT ถือเป็น “ขุมทองแห่งโอกาส” เพราะเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพสูงและมีเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ด้วยจำนวนประชากรรวมกัน 240 ล้านคน อัตราการขยายตัวของ GDP สูงถึง 6.2% ในปี 2560 (ในขณะที่ โลกเติบโต 3.6%) กลุ่มประเทศ CLMVT จึงดึงดูดความสนใจจากผู้ประกอบการจากทั่วโลก ให้เข้าไปลงทุน ค้าขาย และขยายธุรกิจเป็นจานวนมาก ทำให้เศรษฐกิจในภูมิภาคขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้ง การค้าไทยกับ CLMV มีมูลค่ามากกว่า 35,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วนร้อยละ 10.6 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด (สูงถึงร้อยละ 42 ของมูลค่าการส่งออกรวมของไทยไป ASEAN) นับว่าเป็นสัดส่วนที่สูงมากเมื่อพิจารณาจากขนาดเศรษฐกิจและประชากรของประเทศ CLMV เทียบกับ ASEAN ในภาพรวม