พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ติดตามความคืบหน้าแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานประมง สั่งจัดหางาน 22 จังหวัดติดทะเลติดตามนายจ้าง ผู้ประกอบการประมงทะเล แบบเคาะประตูบ้าน และให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดประชาสัมพันธ์ สำหรับยอดแรงงานประมงตามมาตรา 83 ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติได้รับการขยายระยะเวลาทำงานแล้ว 1,421 คน เป็นกัมพูชา 917 คน ลาว 25 คน เมียนมา 479 คน
วันที่ 5 กันยายน 2561 เวลา 09.00 น. พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมติดตามการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคประมงทะเล ณ ห้องประชุมประสงค์ รณะนันทน์ ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานประมง และสั่งการจัดหางาน 22 จังหวัดติดทะเลติดตามนายจ้าง ผู้ประกอบการประมงทะเล แบบเคาะประตูบ้าน รีบพาแรงงานต่างด้าวตามาตรา 83 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติมาดำเนินการขยายระยะเวลาการทำงานที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (OSS) ใน 22 จังหวัดติดทะเลโดยเร็ว พร้อมให้จัดทำแผนและกำหนดนัดให้นายจ้างนำแรงงานมาดำเนินการภายในกำหนด รวมถึงให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดประชาสัมพันธ์
สำหรับความคืบหน้าการอนุญาตให้แรงงานเวียดนามที่ลักลอบทำงานในประเทศไทยเดินทางกลับออกไปนอกราชอาณาจักรและหากประสงค์จะทำงานให้กลับเข้ามาตาม MOU โดยเพิ่มประเภทงานให้ทำงานรับใช้ในบ้าน และงานกรรมกรในทุกกิจการเช่นเดียวกับแรงงาน 3 สัญชาติ เตรียมส่งผู้แทนกระทรวงแรงงานเดินทางไปเยือนเวียดนามเพื่อประชุมหารือแนวทางการดำเนินการเพื่อเห็นชอบร่วมกันประมาณกลางเดือนกันยายนนี้ พลตำรวจเอก อดุลย์ฯ กล่าวท้ายที่สุด
ทั้งนี้ ยอดแรงงานประมงตามมาตรา 83 ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติได้รับการขยายระยะเวลาทำงานแล้ว 1,421 คน เป็นกัมพูชา 917 คน ลาว 25 คน เมียนมา 479 คน โดยจังหวัดสงขลามาดำเนินการมากที่สุด รองลงมาเป็นปัตตานี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรปราการ และชุมพร ตามลำดับ โดยระยะเวลาการอยู่และทำงานในราชอาณาจักร 2 ปี ถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 อนุญาตครั้งละ 1 ปี ดำเนินการตั้งแต่ 20 สิงหาคม – 30 กันยายน 2561 อีกทั้ง นายจ้างผู้ประกอบการประมงทะเลยื่นความต้องการนำเข้าแรงงานตาม MOU แล้ว จำนวน 12,868 คน เป็นกัมพูชา 7,386 คน ลาว 352 คน เมียนมา 5,006 คน