วศ.อว. จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ถอดรหัส Healthcare ไทยก้าวไกลสู่มาตรฐานสากล” ผลักดันนวัตกรรมไทยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน

กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดสัมมนา เรื่อง “ถอดรหัส Healthcare ไทยก้าวไกลสู่มาตรฐานสากล” มุ่งหวังพลังความร่วมมือทุกภาคส่วน ขับเคลื่อน งานวิจัยและพัฒนาศักยภาพงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อต่อยอดในการพัฒนา ผลิตภัณฑ์นวัตกรรม รวมถึงผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นของประเทศ โดยมีนายองอาจ ปัญญาชาติรักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกความเข้าใจ ระหว่างกรมวิทยาศาสตร์บริการ ร่วมกับ 15 หน่วยงาน เรื่อง เครือข่ายพันธมิตรยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ ด้านนวัตกรรมทางการแพทย์ ณ โรงแรม เดอะเบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ

นายองอาจฯ กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิต และการบริการด้านสาธารณสุข ทำให้เห็นการพัฒนานวัตกรรมด้านการแพทย์ เกิดขึ้นภายในประเทศ ในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล PPE เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลน

รวมถึงการพัฒนา ห้องความดันลบ เพื่อลดความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ การพัฒนาหุ่นยนต์สนับสนุน การปฏิบัติงาน ทางการแพทย์ การให้คำปรึกษาของแพทย์ทางไกล และเห็นถึงการรวมพลังการทำงานของหลากหลาย หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งแสดงถึงศักยภาพของประเทศไทยในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาด ของเชื้อโควิด-19 ทำให้ทั่วโลก เห็นถึงขีดความสามารถด้านการสาธารณสุขของไทย

และเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะยกระดับ ระบบสาธารณสุข และพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ให้เป็นศูนย์กลาง ของภูมิภาคสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างโอกาสการปรับเปลี่ยน ระบบสาธารณสุขของประเทศไทย หรือ Healthcare Reinventing ให้ดียิ่งขึ้น ตามนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุน ให้อุตสาหกรรมการแพทย์ เป็นอุตสาหกรรม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ของประเทศภายใต้โมเดล BCG Economy

นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายใต้นโยบาย Healthcare Reinventing ของ อว. ที่ส่งเสริมนำนวัตกรรมมาพัฒนาอุตสาหกรรมทางการแพทย์ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนายาและวัคซีน เครื่องมือแพทย์ การให้บริการทาง การแพทย์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นต้น

ในการผลักดันอุตสาหกรรมทางการแพทย์สู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ได้นั้น ต้องอาศัยความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศเป็นกลไกสำคัญ เพื่อยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ กรมวิทยาศาสตร์บริการ จึงได้จัดตั้งเครือข่ายพันธมิตรยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศด้านนวัตกรรมทางการแพทย์ ร่วมกับ 15 หน่วยงาน จาก 3 กระทรวง

ได้แก่ กระทรวงการอุดมศึกษาฯ, กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อกำหนดกรอบและแนวทาง การปฏิบัติในการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ภายในประเทศสู่เชิงพาณิชย์และได้รับการยอมรับในต่างประเทศต่อไป

กรมวิทยาศาสตร์บริการ ซึ่งมีภารกิจด้านการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ และการพัฒนา หน่วยตรวจสอบและรับรองเพื่อส่งเสริมขีดความสามารถของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทย จึงได้จัดสัมมนา เชิงปฏิบัติการ “ถอดรหัส Healthcare ไทยก้าวไกลสู่มาตรฐานสากล” มุ่งหวังให้ผู้เข้าร่วมสัมมนา ทั้งจากภาครัฐ มหาวิทยาลัย ภาคเอกชน ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม และผู้ที่สนใจทั่วไป

ได้เห็นถึงพลังความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนงานวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นต้องใช้ในช่วงวิกฤต เป็นการถอดบทเรียน เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนาครั้งสำคัญที่นำโครงสร้างพื้นฐานทางด้านคุณภาพของประเทศ มาใช้เพิ่มศักยภาพการพัฒนาและขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรม สามารถนำไปใช้ต่อยอดเป็นแนวทางในการพัฒนา ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอื่นในอนาคต

ภายในงานประกอบด้วยพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ เรื่อง “เครือข่ายพันธมิตรยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน ทางคุณภาพของประเทศด้านนวัตกรรมทางการแพทย์” การบรรยายพิเศษ เรื่อง “Healthcare Reinventing” โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา ของ สบค. การเสวนาถอดบทเรียนการพัฒนาชุด PPE ภายในประเทศเพื่อรองรับ สถานการณ์โรคระบาด ซึ่งจะเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้และบทเรียนสำคัญจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และการสัมมนา 3 กลุ่มย่อย ได้แก่

กลุ่มที่ 1 มาตรฐานการผลิตชุด PPE ในประเทศไทย

กลุ่มที่ 2 มาตรฐานและการทดสอบหน้ากาก N95 และหน้ากากอนามัยแบบผ้า และ

กลุ่มที่ 3 การพัฒนาหมวกอัดอากาศความดันบวกหรือ PAPR และ Specification

งานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ถอดรหัสHealthcare ไทยก้าวไกลสู่มาตรฐานสากล” ในครั้งนี้เป็นการถ่ายทอด ประสบการณ์การพัฒนานวัตกรรมด้านการแพทย์ที่อาศัยกลไกการบูรณการของทุกภาคส่วนภายใต้ สถาณการณ์วิกฤติ และยังเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน ได้มีส่วนร่วมแลกเปลี่ยความคิดเห็นข้อเสนอแนะ การร่วมมือกันนำระบบ โครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ ของประเทศและคุณภาพชีวิตของคนไทยได้อย่างยั่งยืนต่อไป

………………………………………..