กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการตรวจสอบคุณภาพของข้อมูลเรดาร์ตรวจอากาศและการประเมินปริมาณน้ำฝน พร้อมต่อยอดการดำเนินงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการใช้ข้อมูลเรดาร์ฯ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจาก Central Weather Bureau สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน)
วันที่ 3 กันยายน 2561 เวลา 09.00 น. นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “การประยุกต์ ใช้ข้อมูลเรดาร์ตรวจอากาศเพื่อการประเมินปริมาณน้ำฝน (Training Workshop on Weather Radar Observation Data for Rainfall Estimation)” พร้อมกล่าวว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้มีการดำเนินโครงการวิจัย “Rainfall Estimation from C-band Weather Radar Over the Northern, North-eastern and Southern of Thailand” หรือการประเมินปริมาณน้ำฝนด้วยเรดาร์ตรวจอากาศแบบเคลื่อนที่ชนิด C-band ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 ถึง 31 มีนาคม 2563 รวมระยะเวลาดำเนินโครงการ 30 เดือน เพื่อศึกษาสมการความสัมพันธ์ระหว่างค่าการสะท้อนกลับของเรดาร์ฯ (Z) กับค่าความเข้มฝน (R) ของเรดาร์ตรวจอากาศแบบเคลื่อนที่ชนิด C-band ซึ่งเป็นเรดาร์ที่ทำงานในช่วงความถี่ 5 GHzเพื่อใช้ในการประเมินปริมาณฝนจากการตรวจวัดด้วยเรดาร์ฯ โดยในการดำเนินงานโครงการวิจัยดังกล่าว ข้อมูลปริมาณน้ำฝนจากการตรวจวัดด้วยเรดาร์ฯ ที่นำมาใช้ในการวิเคราะห์ จำเป็นต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบคุณภาพ (Quality control : QC) เพื่อให้มีความถูกต้องและสามารถประเมินปริมาณฝนได้อย่างแม่นยำได้ กรมฝนหลวง และการบินเกษตร จึงได้จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อดังกล่าวขึ้น ระหว่างวันที่ 3 – 7 กันยายน 2561 ณ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อเป็นการเสริมสร้างองค์ความรู้ในเรื่องข้อมูลเรดาร์และเพิ่มพูนประสบการณ์ให้แก่นักวิจัยและบุคลากร
นายสุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า การฝึกอบรมในครั้งนี้ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจาก Central Weather Bureau สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) จำนวน 2 ท่าน ได้แก่ Dr.Chang Pao-Laing ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Senior Technical Specialist, Meteorological Information Center, Central Weather Bureau และ Mr.Fang Wei-Ting ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Associate Technical Specialist, Meteorological Satellite Center, Central Weather Bureau ซึ่งเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในด้านการประมวลผลข้อมูลเรดาร์ตรวจอากาศ และมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ มาเป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้ในการฝึกอบรม ทั้งนี้ คาดว่าผู้เข้ารับการอบรมจะสามารถเข้าใจทฤษฎีและเทคนิคการตรวจสอบคุณภาพของข้อมูลเรดาร์ฯ การประเมินปริมาณฝนจากข้อมูลเรดาร์ตรวจอากาศ และ Radar Climatology Product เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และแนวทางการดำเนินงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการใช้ข้อมูลเรดาร์ฯ พร้อมนำองค์ความรู้ที่ได้ไปต่อยอดในการดำเนินงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเกิดความร่วมมือทางด้านวิชาการระหว่างกรมฝนหลวงและการบินเกษตร และ Central Weather Bureau สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ในอนาคตต่อไป!!