(10 กรกฎาคม 2563) เวลา 13.30 น. ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอนและติดตามภารกิจ สช. ภายใต้สถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 ณ โรงเรียนตรังร่วมพัฒนา อำเภอเมือง จังหวัดตรัง พร้อมด้วย นายกมล รอดคล้าย ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายพะโยม ชิณวงศ์ ประธานคณะทำงาน รมช.ศธ. และคณะทำงาน โดยมี นายปราโมทย์ เกี่ยวพันธ์ ศึกษาธิการจังหวัดตรัง นางสาวศรีนวล นุ้ยหงษ์ ประธานคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชนจังหวัดตรัง นางเสาวลักษณ์ ทองย้อย ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดตรัง นางสาววธู สังขวิภา ผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนตรังร่วมพัฒนา ผู้บริหาร และครูโรงเรียนเอกชนในพื้นที่ให้การต้อนรับ
ดร.กนกวรรณ กล่าวว่า ขอบคุณครู และโรงเรียนเอกชนที่ช่วยจัดการศึกษาเพื่อชาติ และตนก็พยายามทำงานเพื่อชาวเอกชนเช่นกัน ได้รับทราบปัญหาตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่ง จนตอนนี้ทำให้ครูเอกชนยิ้มได้แล้ว นั่นคือ ค่ารักษาพยาบาลครู และขณะนี้ที่ยังดำเนินการอยู่คือให้ครอบคลุมถึงครอบครัวได้ ซึ่งมีขั้นตอนเยอะแต่ยังพยายามสู้เพื่อชาวเอกชนต่อไป รวมถึงให้ครูที่เป็นสมาชิกกองทุนสงเคราะห์ไม่ถึง 10 ปี กู้เงินกองทุนสงเคราะห์โครงการที่ 5 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4% โดยได้ขยายคุณสมบัติของผู้กู้ที่บรรจุเป็นผู้อำนวยการ ครู บุคลากรทางการศึกษาครบ 5 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี กู้เงินสะสม 3% ของตนเองได้ และขยายกำหนดอายุผู้กู้จากอายุไม่เกิน 60 ปี เป็น 65 ปี นับจากวันที่ยื่นกู้
นอกจากนี้ในสถานการณ์ COVID 19 ระบาดตนได้ให้ สช. ไปดำเนินการหาทางช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนในระบบที่รับเงินอุดหนุนกู้ยืมเงินจากกองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบ เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่องในการใช้จ่ายเงินเพื่อการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนในส่วนของการบริหารกิจการโรงเรียน โรงละไม่เกิน 1,000,000 บาท ระยะเวลาการชำระหนี้ 2 ปี เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลงาน ที่ตั้งใจทำเพื่อชาวเอกชน และจะทำเพื่อพัฒนาการศึกษาต่อไป ดร.กนกวรรณ กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับโรงเรียนตรังร่วมพัฒนา เป็นโรงเรียนเอกชน ประเภท สามัญศึกษา อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เปิดสอนในระดับชั้นเตรียมอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จำนวนนักเรียน 169 คน ครูและบุคลากร จำนวน 38 คน มีการจัดการเรียนการสอนแบบสองภาษาคือ ภาษาไทยและ ภาษาอังกฤษ รับรองมาตรฐานจาก กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีจุดประสงค์หลัก คือการเป็นผู้นำในการ ปฏิรูปการศึกษา ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่ มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมิได้เรียนเฉพาะเนื้อหาวิชาการแต่ยังต้องให้ความสำคัญในการ พัฒนาทักษะความรู้ในศตวรรษที่ 21 ผ่าน ประสบการณ์การเรียนรู้และสิ่งแวดล้อม กระตุ้นในผู้เรียนมีความสุขกับการเรียนรู้และ เติบโตเป็นพลเมืองโลกที่มีคุณภาพ
ข่าว: เอื้อมพร สุเมธาวัฒนะ / กรรณิกา พันธ์คลอง
ภาพ: ปรานี บุณยรัตน์ / ณัฐวุฒิ วากะดวน