นายภุชพงค์ โนดไธสง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยสรุปผลที่สำคัญการทำงานของสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2560 พบว่า จำนวนสตรีที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป 28.95 ล้านคน เป็นผู้อยู่ในกำลังแรงงานประมาณ 17.35 ล้านคน หรือร้อยละ 59.9 ของสตรีที่อายุ 15 ปีขึ้นไปทั้งหมด (เป็นผู้มีงานทำ 17.11 ล้านคน ผู้ว่างงาน 2.05 แสนคน และผู้รอฤดูกาล 2.78 หมื่นคน) นอกจากนี้ยังมีสตรีที่อยู่นอกกำลังแรงงานอีก 11.60 ล้านคน หรือร้อยละ 40.1 ได้แก่ ทำงานบ้าน เรียนหนังสือ ชรา เกษียณการทำงาน เป็นต้น
เมื่อเปรียบเทียบอาชีพระหว่างเพศชายและเพศหญิง พบว่า อาชีพที่เพศหญิงมีจำนวนผู้ทำงานมากกว่าเพศชาย คือ เสมียน (หญิงร้อยละ 71.9 และชายร้อยละ 28.1) ประกอบวิชาชีพด้านต่างๆ (หญิงร้อยละ 61.2 และชายร้อยละ 38.8) และ พนักงานบริการในร้านค้าและตลาด (หญิงร้อยละ 58.7 และชายร้อยละ 41.3) ในขณะที่บางอาชีพมีลักษณะงานเหมาะสำหรับเพศชาย เช่น ช่างเทคนิคหรือผู้ประกอบวิชาชีพต่างๆ (เช่น วิศวกรรม สถาปนิก เป็นต้น) เพศหญิงกลับมีสัดส่วนผู้ทำงานด้านนี้มากกว่าเพศชาย สำหรับสถานภาพการทำงานของแรงงานสตรีปี 2560 พบว่า ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างเอกชนร้อยละ 37.4 ประกอบธุรกิจส่วนตัว 26.3 ช่วยธุรกิจครัวเรือนร้อยละ 24.5 ลูกจ้างรัฐบาลร้อยละ 10.3 นายจ้างร้อยละ 1.3 และการรวมกลุ่มร้อยละ 0.2 ตามลำดับ จะเห็นได้ว่าปัจจุบันสตรีได้เข้ามามีบทบาทในการทำงานเท่าเทียมกับชาย ซึ่งเห็นได้จากความสามารถการทำงานของสตรีเพิ่มขึ้นและหลากหลายในปัจจุบัน พบกับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.nso.go.th นายภุชพงค์ฯ กล่าว