วันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๐.๓๐ น. นายปนิธิ เสมอวงษ์ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านปฏิบัติการ เปิดเผยว่า ในขณะนี้ สภาพอากาศของประเทศไทย มีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงปกคลุมประเทศไทย ทำให้เมฆเคลื่อนที่เร็วฝนที่ตกจึงมีลักษณะเป็นกลุ่มขนาดเล็ก อย่างไรก็ตามหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทั้ง ๑๒ หน่วยของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีการติดตามสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าเมฆมีลักษณะของยอดเมฆไม่สูง และเคลื่อนที่เร็ว จึงทำให้ฝนที่ตกลงมามีลักษณะเป็นกลุ่มๆ กระจายตัว และมีปริมาณไม่มาก สำหรับผลการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวานนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน ๘ หน่วยปฏิบัติการ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จ.เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง กำแพงเพชร สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ ลพบุรี อุทัยธานี เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี ขอนแก่น หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครราชสีมา ยะลา พื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อน จำนวน ๕ แห่ง อ่างเก็บน้ำ ห้วยใหญ่ อ่างเก็บน้ำเขาพระ และบึงบอระเพ็ด
ด้านแผนการปฏิบัติการฝนหลวงประจำวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๖๓ จากข้อมูลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยออกประกาศเขตพื้นที่ภัยแล้ง มีจำนวน ๗ จังหวัด ๕๘ อำเภอ ๓๒๘ ตำบล ๒ เทศบาล ๓,๑๓๔ หมู่บ้าน/ชุมชน บริเวณพื้นที่ภาคเหนือ ๒ จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๓ จังหวัด ภาคกลางและภาคตะวันออก ๒ จังหวัด ขณะที่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า ๓๐% ของปริมาณน้ำใช้การ เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน ๓๓ แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ๒๑๙ แห่งด้านประกาศแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักบริเวณพื้นที่ภาคเหนือ ด้านตะวันออกและตอนล่าง ภาคกลางตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคตะวันออก สำหรับข้อมูลการขอรับบริการฝนหลวง ณ วันที่ ๔ ก.ค. ๒๕๖๓ พบว่ามีผู้ขอรับบริการฝนหลวงจากทั่วทุกภูมิภาคจำนวน ๙๐๑ แห่ง (๕๖ จังหวัด ๔๐๐ อำเภอ) โดยจะเห็นว่าแต่ละพื้นที่ยังคงมีน้ำที่ใช้เพื่อการเกษตร รวมถึงอุปโภค และบริโภคในปริมาณน้อยจึงมีจำนวนการขอรับบริการฝนหลวงค่อนข้างเยอะพอสมควร ซึ่งกรมฝนหลวงฯ จะนำมาวางแผนและขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงให้กับพื้นที่ที่มีความต้องการน้ำอย่างทั่วถึงต่อไป
ส่วนการติดตามสภาพอากาศเพื่อวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวงในวันนี้ ผลการตรวจอากาศจากสถานีเรดาร์ในพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง ในช่วงเช้าจึงวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง โดย ๔ หน่วยปฏิบัติการ ดังนี้
- หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.ขอนแก่น ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.ขอนแก่น จ.เลย จ.หนองบัวลำภู จ.ชัยภูมิ และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนจุฬาภรณ์ และเขื่อนห้วยกุ่ม
- หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.อุดรธานี ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.อุดรธานี จ.สกลนคร จ.บึงกาฬ และ จ.กาฬสินธุ์
- หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.นครราชสีมา ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและอ่างเก็บน้ำ จ.นครราชสีมา จ.ชัยภูมิ และ จ.บุรีรัมย์
- หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.สุรินทร์ ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.ศรีสะเกษ จ.ยโสธร และ
จ.อุบลราชธานี
อย่างไรก็ตาม สำหรับหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงอีก ๘ หน่วยฯ ขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เข้าเงื่อนไขปฏิบัติการฝนหลวง จะวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบต่อไป ทั้งนี้ เกษตรกร และพี่น้องประชาชน สามารถขอรับบริการฝนหลวง และติดตามข้อมูลข่าวสารกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ทางเพจ Facebook และ Line official account *************************
กรมฝนหลวงและการบินเกษตร
๕ กรกฎาคม ๒๕๖๓