ปันกันอิ่ม ทำบุญวิถีใหม่ อิ่มใจได้บุญ

ใกล้วันอาสาฬบูชาและวันเข้าพรรษา วันสำคัญทางศาสนา ใครหลายคนอาจเลือกไปทำบุญที่วัดตามปกติ และอีกหลายคนมีวิธีการทำบุญแบบวิถีใหม่ ด้วยการ “ให้ทาน” เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นที่เดือดร้อน จากวิกฤตของโควิด-19 นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ทาง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา และภาคีเครือข่าย ชวนคนไทยทำความรู้จักโครงการ “ปันกันอิ่ม” ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการ “ฉลาดทำบุญ วิถีสร้างสุขภาวะทางสังคม” การทำบุญวิถีใหม่ ด้วยการฝากเงินค่าอาหาร ไว้กับร้านที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้ร้านอาหารเป็นสะพานบุญ ส่งต่อและแบ่งปันอาหารให้กับผู้ที่ต้องการ เป็นการให้ที่มีความสุข อิ่มท้องและอิ่มใจไปพร้อมกัน

“ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์” ผู้จัดการสำนักงานกองทุน สสส. เล่าว่า “โครงการปันกันอิ่ม” ถือเป็นนวัตกรรมการทำบุญรูปแบบใหม่ จากบทเรียนวิกฤตโควิด-19 ที่ทำได้ในชีวิตประจำวันเหมาะกับยุคสมัย โดยมีกลไกคือร้านขายอาหารเป็น “สะพานบุญ” เชื่อมระหว่างผู้ให้และผู้รับ วิธีนี้นอกจากช่วยให้ผู้รับอิ่มท้องแล้ว ร้านอาหารในชุมชนก็อยู่รอด ทำให้ในชุมชนมีเงินหมุนเวียน นับได้ว่าเป็นมิติใหม่ของการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในระดับชุมชน ที่จะช่วยให้เกิดสังคมที่มีความเกื้อกูล มีวิถีชีวิตสุขภาวะที่ยั่งยืน “โครงการปันกันอิ่ม เป็นช่องทางให้ผู้มีน้ำใจ สามารถช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ขัดสนได้สะดวกขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องรู้จักหรือพบเขาด้วยตัวเอง เป็นเสมือนโรงทานสมัยใหม่ที่ใคร ๆ ก็ทำได้” เป็นมุมมองจาก พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา

พระไพศาล อธิบายว่า โครงการปันกันอิ่ม มองว่าปัจจัยพื้นฐานเรื่องอาหารเป็นสิ่งสำคัญ ในสังคมทุกวันนี้ยังมีกลุ่มคนส่วนหนึ่งที่มีรายได้น้อย ยากจนขัดสน กินอาหารไม่พออิ่ม หรือต้องอดอาหารเป็นบางมื้อ ขณะที่คนอีกส่วนหนึ่งต้องการช่วยเหลือแบ่งปันอาหารให้เท่าที่มีกำลัง แต่ไม่รู้จะหยิบยื่นน้ำใจให้กันอย่างไร โครงการปันกันอิ่มจึงนำเสนอแนวคิด การทำบุญรูปแบบใหม่ผ่านช่องทางใหม่ เป็นทางเลือกในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ซึ่งทำได้ง่ายตามกำลังและโอกาส มีร้านอาหารเป็นตัวกลางระหว่างผู้ให้กับผู้รับ ดังคำขวัญโครงการว่า “อิ่มใจผู้ให้ อิ่มท้องผู้รับ”

สำหรับวิธีการคือ ผู้ที่ต้องการช่วยเหลือ จะนำเงินค่าอาหารหรือเครื่องดื่ม ไปฝากไว้กับร้านอาหาร จากนั้นทางร้านจะรวบรวมทำเป็นคูปองกินอาหารฟรี พร้อมเขียนแจ้งจำนวนคูปองไว้ที่หน้าร้าน เพื่อให้ผู้ที่ไม่มีอาหารกิน สามารถเดินมาหยิบคูปอง และเข้าไปนั่งกินในร้านได้ เหมือนกับลูกค้าทั่วไป พระไพศาล กล่าวว่า โครงการปันกันอิ่ม ถือเป็นการทำบุญมิติใหม่ของสังคมไทย เพราะเป็นการมุ่งสงเคราะห์ผู้ที่เดือดร้อน เช่น ไม่มีอาหาร ขาดรายได้มาประทังชีวิต

สำหรับการทำบุญในยุคโควิด-19 ควรจะมีลักษณะ 4 ประการ ดังนี้

  1. ทำง่าย ไม่ต้องใช้เงินมาก ผู้ให้สามารถบริจาคเพียง 20 -30 บาทก็ได้ และการทำบุญควรทำที่ไหนก็ได้ เช่น โครงการปันกันอิ่ม ร้านไหนก็สามารถเป็นโรงทานช่วยเหลือผู้ยากไร้ได้ เพียงแค่นำเงินไปฝากไว้ ยิ่งถ้าเจ้าของร้านเข้าใจแนวคิดและเข้าร่วมโครงการนี้มาก ๆ การแบ่งปันกันก็จะเกิดขึ้นได้ทุกพื้นที่
  2. ใคร ๆ ก็ทำได้ ใคร ๆ ก็เอื้อเฟื้อเกื้อกูลได้ เพราะไม่ได้มีขั้นตอนยุ่งยากอะไร เพียงนำเงินมาฝากเป็นค่าอาหารไว้ ขณะเดียวกันผู้ที่เคยได้รับการช่วยเหลือ วันหนึ่งที่เขาดีขึ้นแล้ว ก็อาจจะนำเงินมาฝากร้าน เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นให้ได้กินอาหารบ้าง
  3. ถึงผู้ที่เดือดร้อนจริง ๆ เพราะการทำบุญหลายอย่างอาจไปไม่ถึงผู้ที่เดือดร้อน แต่โครงการปันกันอิ่ม สามารถช่วยบรรเทาความหิวโหย ให้แก่ผู้ยากไร้ที่ขาดแคลน หรือไม่มีกำลังซื้ออาหารกิน
  4. เติมพลังบวกให้กับทุกฝ่าย ทั้งผู้รับและผู้ให้ เพราะผู้ให้และร้านอาหาร ต่างก็มีความรู้สึกภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือ ส่วนผู้รับก็ไม่รู้สึกต่ำต้อย ไม่รู้สึกเกิดพลังลบในจิตใจ เพราะได้รับการบริการเหมือนกับลูกค้าทั่วไป เกิดเป็นความประทับใจ ซาบซึ้งในความเอื้อเฟื้อเกื้อกูล ของคนแปลกหน้าที่เขาไม่รู้จัก ทำให้เขารู้สึกว่า โลกใบนี้ไม่ได้โหดร้ายจนเกินไป ยังมีคนพร้อมช่วยเหลือเขาอีกมาก และอาจเกิดเป็นแรงบันดาลใจ อยากจะทำความดีแบบนี้บ้าง ที่สำคัญความช่วยเหลือดังกล่าว ยังช่วยทำให้เขามีความหวัง มีกำลังใจในการต่อสู้ชีวิตต่อไป

ด้าน “นายสืบศักดิ์ เชี่ยวชาญยนต์” เจ้าของร้านมาราธอน ข้าวหมูทอด หนึ่งในร้านที่เข้าร่วมโครงการปันกันอิ่ม เล่าว่า เห็นตัวอย่างจากร้านค้าอื่นที่เข้าร่วมโครงการ แล้วรู้สึกชอบแนวความคิดจึงสนใจเข้าร่วม ประกอบกับส่วนตัวเชื่อว่า การเป็นผู้ให้มีความสุขมากกว่าผู้รับ ซึ่งลูกค้าที่มากินอาหารที่ร้าน หากต้องการให้ความช่วยเหลือก็สามารถฝากเงินค่าอาหารเอาไว้ และทางร้านจะใส่คูปองไว้ในกล่องเท่าจำนวนรับฝาก ส่วนผู้ที่ต้องการกินอาหาร ก็สามารถเดินมาหยิบคูปอง นำไปสั่งอาหารกินในร้านได้เลย นอกจากนี้ยังสามารถเขียนข้อความหรือความรู้สึกดี ๆ ในกระดาษโพสต์อิท ติดไว้ที่กระดานขอบคุณเพื่อสื่อสารถึงผู้ให้ได้ ซึ่งที่ผ่านมามีผู้เข้ามารับคูปองอาหารอยู่เรื่อย ๆ

สำหรับร้านค้าที่สนใจอยากเข้าร่วมโครงการปันกันอิ่ม สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ Facebook   พุทธิกาฉลาดทำบุญด้วยจิตอาสา ส่วนผู้ที่ต้องการรับอาหารหรือน้ำดื่มหรือผู้ที่ต้องการบริจาค ทั้งผู้ให้และผู้รับสามารถสังเกตร้านค้าที่มีป้ายปันกันอิ่มที่ตั้งอยู่หน้าร้าน โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อร้านอาหาร หรือน้ำดื่มที่เข้าร่วมโครงการได้จาก Facebook พุทธิกาฉลาดทำบุญด้วยจิตอาสา ได้เช่นเดียวกัน “โครงการปันกันอิ่ม” เป็นเสมือนโรงทานสมัยใหม่ ที่ใครๆ ก็ทำได้ นี่เป็นอีกหนึ่งวิธีฉลาดทำบุญง่ายๆ ในช่วงเข้าพรรษา ช่วยขัดเกลาจิตใจของเราด้วยการให้ และยังส่งต่อให้เพื่อนร่วมสังคมได้อิ่มท้อง เกิดความสุขใจไปด้วยพร้อม ๆ กันทั้งผู้ให้และผู้รับ