กระทรวงคมนาคม เตรียมความพร้อมการอำนวยความสะดวก และความปลอดภัย รองรับการเดินทางของประชาชนในช่วงวันหยุด (ระหว่างวันที่ 4 – 7 กรกฎาคม 2563)

กระทรวงคมนาคม ได้วางแผนการอำนวยความสะดวกและปลอดภัย รองรับการเดินทางของประชาชนในช่วงวันหยุด 4 วัน ชดเชยวันสำคัญทางพุทธศาสนา ระหว่างวันที่ 4 – 7 กรกฎาคม 2563 (วันอาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา) ให้ได้รับความสะดวกและปลอดภัยในการเดินทางทั้งรถส่วนบุคคลและด้วยระบบการขนส่งสาธารณะอย่างเพียงพอ ไม่ล่าช้า ไม่มีผู้โดยสารตกค้าง ไม่โก่งราคาค่าโดยสาร ลดการเกิดอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บจากการใช้โครงข่ายคมนาคมให้ต่ำที่สุด บริหารจัดการจราจรทางถนนให้มีความคล่องตัว ไม่ติดขัด โดยใช้ข้อมูลการเดินทางผ่านระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยด้วยการนำอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) มาใช้ในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด และแนะนำเส้นทางการเดินทาง รวมถึงเสนอแนะรูปแบบการเดินทางวิถีใหม่ (Transport New Normal) ด้วยการรักษาระยะห่าง การวางแผนการเดินทาง การสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือก่อนและหลังการใช้บริการ และการลงทะเบียนสแกน QR CODE ไทยชนะ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้จัดทำแผนและเตรียมความพร้อมรองรับการเดินทางของประชาชนในช่วงวันหยุดราชการ วันอาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ระหว่างวันที่ 4 – 7 กรกฎาคม 2563 เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทางในช่วงวันหยุดยาวครั้งนี้ ดังนี้

แผนที่ 1 แผนรองรับการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งคาดการณ์ปริมาณการเดินทางจะเพิ่มขึ้นประมาณ 10% จากช่วงเวลาปกติ แบ่งเป็นปริมาณจราจรขาเข้า 3.5 ล้านเที่ยว และขาออก 3.6 ล้านเที่ยว และได้เตรียมความพร้อมด้วยการบูรณาการการบริหารจัดการจราจร บริการจุดพักรถ จุดตรวจสภาพรถ และจุดบริการประชาชนที่เดินทางทางถนนอย่างเพียงพอ มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ตรวจจับความเร็วรถ ดูแลวินัยจราจรของผู้ใช้ถนน ปรับปรุงซ่อมแซมถนนให้อยู่ในสภาพดี จัดเตรียมช่องทางพิเศษ ทางเลี่ยง ทางลัด และจัดทำป้ายเตือน ป้ายแนะนำ จัดเตรียมรถบริการฉุกเฉินในเส้นทางหลัก เตรียมความพร้อมร่วมกับภาคีเครือข่ายสำหรับบริการการแพทย์ฉุกเฉิน การยกเว้นค่าธรรมเนียมผ่านทางมอเตอร์เวย์ หมายเลข 7 (กรุงเทพฯ – ชลบุรี – พัทยา) และหมายเลข 9 (บางปะอิน – บางพลี) ตั้งแต่เวลา 00.01 น. ของวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ถึงเวลา 24.00 น. ของวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 และยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทางพิเศษศรีรัช และทางพิเศษอุดรรัถยา (ทางด่วนสายบางปะอิน – ปากเกร็ด) ตลอดวันที่ 5 กรกฎาคม 2563 และวันที่ 6 กรกฎาคม 2563

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้ร่วมกับกองทัพอากาศในการใช้อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) สำรวจเส้นทางบนทางหลวงหมายเลข 32 (ถนนสายเอเชีย) บริเวณทางต่างระดับบางปะอิน – จ. อ่างทอง และทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) บริเวณทางต่างระดับสระบุรี – แก่งคอย – มวกเหล็ก – ปากช่อง – สีคิ้ว เพื่อตรวจสอบสภาพการจราจรและเป็นข้อมูลสำหรับประชาชนในการวางแผนการเดินทางล่วงหน้า

แผนที่ 2 แผนรองรับการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งได้จัดเตรียมระบบขนส่งสาธารณะ สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 7.6 ล้านคน โดยบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ได้จัดเตรียมรถโดยสารประจำทางและรถโดยสารไม่ประจำทางทั้งเที่ยวไปและเที่ยวกลับ สามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 8 แสนคน การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้จัดขบวนรถประจำวิ่งปกติวันละ 244 ขบวน/วัน โดยเพิ่มตู้โดยสารเฉพาะรถด่วน รถเร็ว เฉลี่ยขบวนละ 1 – 2 ตู้ สามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 250,000 คน องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จัดเตรียมรถโดยสารประจำทาง 117 เส้นทาง เชื่อมต่อสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ 4 สถานี 36 เส้นทาง และให้บริการรถโดยสาร Airport Bus เชื่อมท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำนวน 5 เส้นทาง
แผนที่ 3 มาตรการรองรับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ในระบบขนส่งสาธารณะ เน้นความปลอดภัยของทั้งผู้ปฏิบัติงานให้บริการ และผู้โดยสารด้วยมาตรการเว้นระยะห่าง (Social Distancing) ทั้งภายในรถโดยสารและที่นั่งคอยภายในสถานีฯ ตรวจวัดอุณหภูมิของผู้โดยสารต้องไม่เกิน 37.5 องศาเซลเซียส ควบคุมการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาอย่างเคร่งครัด ให้ผู้โดยสารลงทะเบียนเช็คอิน – เช็คเอาท์ผ่านแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” ทุกครั้งที่ใช้บริการและที่สถานีฯ กรณีที่ไม่สามารถสแกน QR Code ได้ ให้กรอกแบบฟอร์ม ต.8-คค จัดเตรียมเจลแอลกอฮอล์ให้บริการแก่ผู้โดยสาร ทำความสะอาดยานพาหนะด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคทั้งก่อนและหลัง การให้บริการเป็นประจำ สำหรับการให้บริการภายในสถานีขนส่ง ท่าอากาศยาน สถานีรถไฟ สถานีรถไฟฟ้า และท่าเรือโดยสารทุกแห่งได้เน้นย้ำให้ทำความสะอาดสิ่งอำนวยความสะดวกภายในอาคารด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค โดยเฉพาะจุดที่สัมผัสบ่อยครั้ง รวมทั้งได้ติดตั้งที่กั้นแผ่นใสบริเวณเคาน์เตอร์ระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและผู้ใช้บริการด้วย

กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานในสังกัดได้ตั้งศูนย์อำนวยการ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ ให้บริการข้อมูล ประสานการอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางและรับเรื่องข้อร้องเรียนต่างๆ ดังนี้ ศูนย์ปลอดภัยคมนาคม โทร. 1356 ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ โทร. 1584 ศูนย์บัญชาการกรมทางหลวง โทร. 1586 ศูนย์ความปลอดภัยกรมทางหลวงชนบท โทร. 1146 ศูนย์ควบคุมทางพิเศษบูรพาวิถี การทางพิเศษแห่งประเทศไทย โทร. 1543 ศูนย์รัชดา ขสมก. โทร. 1348 และศูนย์บริการข้อมูลลูกค้าสัมพันธ์ รฟท. โทร. 1690

………………………………………………………………………………