กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนในช่วงหน้าฝนปีนี้ระวังป่วยโรคไข้ฉี่หนู โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง แนะหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนในที่ชื้นแฉะหากจำเป็นควรสวมรองเท้าบู๊ทหรือถุงพลาสติกสะอาด ปีนี้พบผู้ป่วยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้สูงถึงร้อยละ 84.3 และผู้เสียชีวิตเกือบทั้งหมดเป็นเกษตรกร
วันที่ 28 สิงหาคม 2561 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงหน้าฝน และในหลายพื้นที่กำลังประสบปัญหาน้ำท่วม สิ่งที่ประชาชนต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในช่วงนี้ คือ โรคเลปโตสไปโรสิส หรือโรคไข้ฉี่หนู โดยเฉพาะเกษตรกร ชาวสวน หรือผู้ที่ทำงานคลุกคลีกับพื้นที่ชื้นแฉะประกอบกับฝนที่ตกต่อเนื่องทำให้สภาพถนนทางเดินมีน้ำท่วมขัง จึงอาจเป็นแหล่งรวมเชื้อโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคไข้ฉี่หนู ซึ่งเชื้อโรคชนิดนี้จะเข้าทางบาดแผล หรือตามรอยถลอก รวมถึงผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานาน
จากข้อมูลเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค วันที่ 1 มกราคม – 19 สิงหาคม 2561 พบผู้ป่วยโรคไข้ฉี่หนู 1,524 ราย เสียชีวิต 15 ราย โดยผู้เสียชีวิตเกือบทั้งหมดเป็นเกษตรกร (14 ราย) นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ (771 และ 514 ราย) รวมร้อยละ 84.3 ของผู้ป่วยทั้งหมด
อาการของโรคไข้ฉี่หนู จะเริ่มจากมีไข้สูงทันที ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว โดยเฉพาะที่น่องและโคนขาจะปวดมาก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และตาแดง เป็นต้น หากมีอาการที่กล่าวมา ขอให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว อย่าซื้อยามากินเอง เพราะอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นได้ ที่สำคัญขอให้แจ้งประวัติการเดินลุยน้ำย่ำโคลนให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อการรักษาได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว เพราะหากรักษาล่าช้า อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ไตวาย ตับวาย เลือดออกในปอด อาจทำให้เสียชีวิตได้
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า กรมควบคุมโรคขอแนะนำวิธีปฏิบัติเพื่อป้องโรคไข้ฉี่หนูดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนที่ชื้นแฉะ หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ควรสวมรองเท้าบู๊ทหรือถุงพลาสติกสะอาดที่หาได้ในพื้นที่ ป้องกันไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำหรือดินโดยตรง 2.หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ และอาบน้ำชำระร่างกายทันทีหลังจากเสร็จจากการทำงานหรือลุยน้ำ 3.ควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ หากต้องเก็บไว้ขอให้ปิดอาหารและน้ำดื่มให้มิดชิดเพื่อไม่ให้หนูมาปัสสาวะรดได้ และ 4.กำจัดขยะให้ถูกต้องไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนูได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
**************************************************
ข้อมูลจาก: สำนักโรคติดต่อทั่วไป / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค