ภาพรวม
ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนมิถุนายน 2563 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 1.57 (YoY) ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 3.44 ในเดือนที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุสำคัญจากมาตรการบางส่วนของภาครัฐ โดยเฉพาะการลดค่ากระแสไฟฟ้า และน้ำประปาได้สิ้นสุดลง รวมทั้งสินค้าในกลุ่มพลังงาน และอาหารสด แม้ยังลดลงต่อเนื่อง แต่ลดลงในอัตราที่น้อยลง ขณะที่สินค้าและบริการในหมวดอื่นๆ ส่วนใหญ่เคลื่อนไหวสอดคล้องกับสถานการณ์และความต้องการบริโภคของประชาชน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐานหดตัวร้อยละ 0.05 (YoY) เฉลี่ย 6 เดือน (ม.ค.- มิ.ย.) ปี 2563 เงินเฟ้อทั่วไปลดลงร้อยละ 1.13 (AoA) และ เงินเฟ้อพื้นฐานสูงขึ้น ร้อยละ 0.32 (AoA)
การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่รัฐบาลได้ประกาศออกมาเป็นระยะ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของไทยที่ถูกจำกัดในช่วงก่อนหน้าเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในภาคบริการ ทั้งการค้าปลีก การคมนาคม-ขนส่ง และการท่องเที่ยว สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจหลายตัวที่มีทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง รวมทั้งเครื่องชี้ด้านการบริโภคเอกชน ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีว่าสถานการณ์เศรษฐกิจและเงินเฟ้อน่าจะสามารถกลับเข้าสู่ทิศทางปกติได้แบบค่อยเป็นค่อยไป
สถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนมิถุนายน 2563
ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนมิถุนายน 2563 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 1.57 (YoY) โดยสินค้าอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 2.53 จากการลดลงของ
หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ร้อยละ 5.06 โดยน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ 16.14 (น้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิด) ซึ่งหดตัวน้อยลงจากเดือนที่ผ่านมาที่ลดลงร้อยละ 27.97 ส่งผลให้สินค้าในกลุ่มพลังงานในเดือนนี้ลดลงร้อยละ 11.89
หมวดเคหสถาน ลดลงร้อยละ 1.70 จากมาตรการลดค่ากระแสไฟฟ้า และน้ำประปาบางส่วนที่ยังคงอยู่
หมวดการสื่อสาร ลดลงร้อยละ 0.04 (เครื่องรับโทรศัพท์มือถือ)
หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ ลดลงร้อยละ 0.29 (ค่าทัศนาจรใน-ต่างประเทศ ค่าห้องพักโรงแรม)
ขณะที่หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้นร้อยละ 0.09 (เสื้อเชิ้ต/เสื้อยืดบุรุษ กางเกงขายาวบุรุษ)
หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.19 (น้ำยาระงับกลิ่นกาย ค่าแต่งผมชาย ยาสีฟัน) และค่าโดยสารสาธารณะ สูงขึ้นร้อยละ 0.40 (ค่าโดยสารรถตู้วิ่งระหว่างอำเภอ ค่าโดยสารเครื่องบิน)
ส่วนหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ดัชนีราคาโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง
สำหรับหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.06 จากการสูงขึ้นของ ข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง ร้อยละ 5.52 (ข้าวสารเหนียว) เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 3.40 (น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) ซอสหอยนางรม) เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 1.95 (น้ำอัดลม น้ำหวาน กาแฟผงสำเร็จรูป) อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน สูงขึ้นร้อยละ 0.78 และ 0.42 ตามลำดับ (กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวแกง/ข้าวกล่อง ก๋วยเตี๋ยว) ขณะที่สินค้าบางตัวราคาลดลง อาทิ ผักสด (พริกสด มะนาว มะเขือเทศ) ผลไม้ (เงาะ ส้มเขียวหวาน มะม่วง) เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ (ไก่ย่าง กุ้งขาว ไก่สด ปลานิล ปลากะพง) ไข่และผลิตภัณฑ์นม (ไข่ไก่ นมสด)
ดัชนีราคาผู้บริโภค เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2563 สูงขึ้นร้อยละ 1.56 (MoM) ไตรมาสที่ 2 ปี 2563 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 2.67 (YoY) และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ลดลงร้อยละ 2.11 (QoQ) และเฉลี่ย 6 เดือน (ม.ค.- มิ.ย.) ปี 2563 ลดลงร้อยละ 1.13 (AoA)
ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนมิถุนายน 2563 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 3.1 (YoY) จากที่ลดลงร้อยละ 4.8 ในเดือนก่อนหน้า โดยลดลงในอัตราที่น้อยลงในทุกหมวดสินค้า ตามภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีที่ภาคการผลิตอาจจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้ง
โดยหมวดผลผลิตเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ 0.9 ตามการลดลงของกลุ่มผลผลิตการเกษตร (หัวมันสำปะหลัง ยางพารา) พืชผัก (มะนาว มะเขือเทศ กะหล่ำปลี) ผลไม้ (มะม่วง มังคุด ส้มเขียวหวาน) และกลุ่มสัตว์มีชีวิต (สุกรมีชีวิต ไข่) สินค้าที่ราคาสูงขึ้น อาทิ ข้าวเปลือกเจ้า/เหนียว อ้อย ปลาน้ำจืด/ทะเล ปริมาณผลผลิตน้อยลงจากสภาพอากาศแปรปรวนและภัยแล้ง ผลปาล์มสด จากมาตรการของภาครัฐ และไก่มีชีวิต ความต้องการทั้งในและต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น
สำหรับสินค้าที่ลดลงตามตลาดโลก และวัตถุดิบ ได้แก่
หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 19.2 ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และก๊าซธรรมชาติ
หมวดผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 2.8 ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์) กลุ่มเคมีภัณฑ์ (โซดาไฟ เม็ดพลาสติก) กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง) กลุ่มโลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์ (เหล็กแท่ง เหล็กแผ่น เหล็กเส้นและเหล็กฉาก) กลุ่มเยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษ (กระดาษพิมพ์เขียน เยื่อกระดาษ) กลุ่มเครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ (สายไฟ สายเคเบิล) และกลุ่มสิ่งทอ (เส้นใยสังเคราะห์ ด้ายฝ้าย)
ดัชนีราคาผู้ผลิต เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2563 สูงขึ้นร้อยละ 0.8 (MoM) ไตรมาสที่ 2 ปี 2563 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 4.1 (YoY) และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ลดลงร้อยละ 2.5 (QoQ) และเฉลี่ย 6 เดือน (ม.ค.- มิ.ย.) ปี 2563 ลดลงร้อยละ 2.3 (AoA)
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เดือนมิถุนายน 2563 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 2.9 (YoY) ลดลงต่อเนื่องในอัตราที่น้อยลงเป็นเดือนที่ 2 (เดือนก่อนหน้า ลดลงร้อยละ 3.8) ตามความต้องการใช้ ต้นทุน และการแข่งขันที่สูง
โดยหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 11.5 (เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ลวดเหล็ก) สอดคล้องกับความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์เหล็กภายในประเทศที่มีแนวโน้มหดตัว
หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 2.5 (พื้นคอนกรีตสำเร็จรูปอัดแรง คานคอนกรีตสำเร็จรูป คอนกรีตบล็อกก่อผนังมวลเบา) จากการค้าชะลอตัวและการแข่งขันสูง
หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 1.3 (ปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนฉาบสำเร็จรูป) สอดคล้องกับปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ที่หดตัวเช่นกัน
ขณะที่หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 1.7 (กระเบื้องแกรนิต) ปรับตามต้นทุน
หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 0.5 (สีเคลือบน้ำมัน สีรองพื้นโลหะ ซิลิโคน)
หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.4 (โถส้วมชักโครก อ่างล้างหน้าเซรามิก)
หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.4 (ถังเก็บน้ำสแตนเลส ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์พีวีซี)
ส่วนหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ดัชนีไม่เปลี่ยนแปลง
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2563 สูงขึ้นร้อยละ 0.6 (MoM) ไตรมาสที่ 2 ปี 2563 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 3.6 (YoY) และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ลดลงร้อยละ 1.3 (QoQ) และเฉลี่ย 6 เดือน (ม.ค.- มิ.ย.) ปี 2563 ลดลงร้อยละ 2.9 (AoA)
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนมิถุนายน 2563 ปรับตัวสูงขึ้น โดยอยู่ที่ระดับ 42.5 จากระดับ 38.1 ในเดือนก่อนหน้า สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ตามการสูงขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทั้งในปัจจุบัน และในอนาคต โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน สูงขึ้นจากระดับ 32.0 มาอยู่ที่ระดับ 36.0 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต สูงขึ้นจากระดับ 42.1 มาอยู่ที่ระดับ 46.9 เป็นการสูงขึ้นในทุกภูมิภาคและทุกอาชีพ การปรับตัวสูงขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมในเดือนนี้ คาดว่ามาจากสถานการณ์ COVID-19 ที่เริ่มคลี่คลายในทางที่ดี ทำให้ประชาชนเริ่มคลายความกังวล รวมทั้งภาครัฐได้ยกเลิกประกาศห้ามออกนอกเคหสถาน และการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ส่งผลให้การดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคธุรกิจเริ่มเข้ากลับสู่ภาวะปกติมากขึ้น ประกอบกับภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาเพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้น่าจะเป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น
แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปไตรมาสที่ 3 ปี 2563
อัตราเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคม 2563 น่าจะเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดของปี ทำให้อัตราเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 3 และช่วงที่เหลือของปี 2563 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากสถานการณ์ COVID-19 ที่น่าจะเริ่มผ่อนคลายลง ส่งผลดีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการบริโภคสินค้าและบริการ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งราคาพลังงานมีแนวโน้มทรงตัวในระดับที่สูงกว่าไตรมาสที่ 2 จากข้อตกลงของกลุ่ม OPEC ขณะที่ภัยแล้งยังคงเป็นประเด็นที่ส่งผลต่อราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายชนิด
อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดด้านเศรษฐกิจในสถานการณ์ไม่ปกติที่ยังฟื้นตัวได้อย่างช้าๆ และอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อน ทำให้อัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปียังมีแนวโน้มต่ำกว่าศูนย์ และเฉลี่ยทั้งปีหดตัว โดย กระทรวงพาณิชย์ ได้ปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ ทั้งปี 2563 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ จากเดิมร้อยละ -1.0 ถึง -0.2 (ค่ากลางอยู่ที่ -0.6) เป็นร้อยละ -1.5 ถึง -0.7 (ค่ากลางอยู่ที่ –1.1)
……………………………………………………………………