นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา (นายทศพล ทังสุบุตร) และคณะ ลงพื้นที่เยี่ยมชมแหล่งเพาะปลูกและแหล่งผลิต “น้อยหน่าปากช่อง” พร้อมมอบหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียน GI มะขามเทศเพชรโนนไทย เผยเตรียมส่งเสริมและสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากของจังหวัดให้เข้มแข็ง และพร้อมออกสู่ตลาดโลก
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล เปิดเผยว่า “เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ได้เดินทางพร้อมคณะ ลงพื้นที่เยี่ยมชมกระบวนการผลิตสินค้าในท้องถิ่นที่เตรียมขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI) รายการใหม่ของจังหวัดนครราชสีมา และร่วมหารือแนวทางการส่งเสริมและผลักดันของดีในชุมชน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจังหวัดนครราชสีมาได้นำเสนอ “น้อยหน่าปากช่อง” ณ สวนน้อยหน่าเพชรปากช่อง บ้านหนองตาแก้ว ตำบลปากช่อง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นผลไม้ที่มีโอกาสได้รับการขึ้นทะเบียน GI เพราะถือเป็นของดี ของเด่นของชุมชน และอัตลักษณ์โดดเด่นกว่าน้อยหน่าที่อื่น ซึ่งหากได้รับการขึ้นทะเบียน GI แล้ว คาดว่าจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป ทั้งนี้ นอกจากน้อยหน่าปากช่องแล้ว กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ยังได้ร่วมหารือเบื้องต้นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ถึงความเป็นไปได้ในการส่งเสริมสินค้าใหม่ๆ อาทิ ทุเรียนปากช่องเพื่อผลักดันให้ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI ในอนาคตต่อไป”
สำหรับ “น้อยหน่าปากช่อง” ปลูกมากในพื้นที่อำเภอปากช่อง ซึ่งมีสภาพดินแดงเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมต่อการปลูกน้อยหน่ามากที่สุด มีฤดูกาลผลิตในช่วง พฤษภาคม – ธันวาคม ของทุกปี แบ่งออกเป็น 3 สายพันธุ์ คือ
(1) สายพันธุ์น้อยหน่าฝ้าย มีลักษณะตาแคบ ร่องตาลึก รสหวาน เนื้อสีขาวละเอียดครีม กลิ่นหอม
(2) สายพันธุ์น้อยหน่าหนัง มีลักษณะตากว้าง ร่องตาตื้น เนื้อสีขาวละเอียดเหนียว เปลือกร่อนได้ง่าย
(3) สายพันธุ์น้อยหน่าลูกผสม มีลักษณะผลใหญ่ รูปหัวใจ ผิวค่อนข้างเรียบ ร่องตาตื้น เปลือกบางลอกจากเนื้อได้ง่าย เนื้อเหนียว กลิ่นหอม รสชาติหวาน
นอกจากนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เดินทางไป ณ ศาลาประชาคมบ้านดอนสระจันทร์ ตำบลถนนโพธิ์ อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา เพื่อมอบหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียน GI สำหรับมะขามเทศเพชรโนนไทยของจังหวัดนครราชสีมาอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI ไป เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2563 โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาเป็นผู้รับมอบหนังสือรับรองฯ จึงทำให้ปัจจุบันจังหวัดนครราชสีมามีสินค้า GI ที่ขึ้นทะเบียนมากที่สุดในประเทศไทยเทียบเท่าจังหวัดเชียงราย ถึง 6 รายการ
นายวีรศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ได้มอบหมายให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาดำเนินการส่งเสริมช่องทางการตลาดให้กับสินค้า GI ทั้งการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายภายในประเทศ เพื่อเพิ่มยอดขายให้กับผู้ประกอบการและสนับสนุนให้ผู้บริโภคมีโอกาสบริโภคสินค้าท้องถิ่นซึ่งมีคุณภาพ เป็นของดี ของหายาก รวมทั้งขยายตลาดไปยังต่างประเทศ ซึ่งจะต้องทำควบคู่กับการผลักดันการจดทะเบียนคุ้มครอง GI ในต่างประเทศ
…………………………………………………………………………..