รฟม. ประกาศเชิญชวนเข้าร่วมคัดเลือกเป็นผู้ร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กระทรวงคมนาคม ขอเชิญชวนเข้าร่วมคัดเลือกเป็นผู้ร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่งเป็นลักษณะโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดย รฟม. ลงทุนด้านการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งโครงการฯรวมทั้งดำเนินการก่อสร้างงานโยธาโครงการฯส่วนตะวันออก (สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – สถานีสุวินทวงศ์) และผู้ร่วมลงทุนลงทุนงานออกแบบและก่อสร้างงานโยธาโครงการฯ ส่วนตะวันตก (สถานีบางขุนนนท์ – สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) งานออกแบบจัดหา ผลิต ติดตั้ง และทดสอบการทำงานของอุปกรณ์งานระบบรถไฟฟ้ารวมทั้งงานให้บริการการเดินรถไฟฟ้า และซ่อมบำรุงรักษาตลอด ทั้งเส้นทางรวมถึงเป็นผู้จัดเก็บค่าบริการ (PPP Net Cost) โดยมีระยะเวลาร่วมลงทุนแบ่งออกเป็น 2 ระยะดังนี้

ระยะที่ 1 : การออกแบบและก่อสร้างงานโยธา และการจัดหาระบบรถไฟฟ้า โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่

ส่วนที่ 1 การออกแบบ จัดหา ผลิต ติดตั้ง ทดสอบระบบรถไฟฟ้า และทดลองเดินรถไฟฟ้าของโครงการฯส่วนตะวันออก เป็นระยะเวลา 3 ปี 6 เดือน

ส่วนที่ 2 การออกแบบและก่อสร้างงานโยธา และการออกแบบ จัดหา ผลิต ติดตั้ง ทดสอบระบบรถไฟฟ้าและทดลองเดินรถไฟฟ้าของโครงการฯ ส่วนตะวันตก เป็นระยะเวลา 6 ปี

ระยะที่ 2 : การให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา เป็นระยะเวลา 30 ปี นับจากวันที่เริ่มให้บริการเดินรถไฟฟ้าโครงการฯ ส่วนตะวันออก

สำหรับการคัดเลือกดังกล่าว จะเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 อย่างเคร่งครัดโดยผู้ที่สนใจสามารถซื้อเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal Documents: RFP) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ตั้งแต่วันที่ 10 – 24 กรกฎาคม 2563 เวลา 9.00 น.ถึง 15.00 น. ณ ห้องนิทรรศการ ชั้น 1 อาคาร 1 รฟม. โดยประกาศเชิญชวนฯ (ฉบับทางการ) ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการ ข้อกำหนดคุณสมบัติต่าง ๆ และขั้นตอนการคัดเลือกเอกชนสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.mrta.co.th หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่โทร. 0 2716 4000 ต่อ 1519, 1568, 1576, 1580 ในวันและเวลาราชการ

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และ สถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมฯ) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)

………………………………………………..