เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2561 ณ ห้องประชุมกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ชั้น 6 อาคารเอส.พี. (ไอบีเอ็ม) พหลโยธิน พญาไท กรุงเทพฯ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ได้จัดประชุมเพื่อระดมข้อเสนอต่อการขยายผลการศึกษา เรื่อง “สถานการณ์การสื่อสารการตลาดอาหารและเครื่องดื่มบนเฟซบุ๊กสำหรับเด็กและเยาวชนไทย”
ทั้งนี้จากการดำเนินการศึกษาวิจัย “การสื่อสารการตลาดอาหารและเครื่องดื่มบนเฟซบุ๊กสำหรับเด็กและเยาวชนไทย” มูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระวห่างประเทศ พบว่า กลยุทธ์การสื่อสารการตลาดอาหารและเครื่องดื่มบนเฟซบุ๊กอย่างสร้างสรรค์ ได้แก่ การประชาสัมพันธ์ (เช่น CSR ด้วยการบริจาคเงินให้โครงการต่างๆ การแจ้งเปิดสาขาใหม่ เป็นต้น) และการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่าง admin และสมาชิกของแฟนเพจด้วยการชวนคุยและสนทนาในเชิงตลกขบขัน เพื่อสร้างความเป็นมิตรและใกล้ชิดกับกลุ่มสามชิกแฟนเพจ ยิ่งไปกว่านั้น การโฆษณาอาหารยังใช้พรีเซ็นเตอร์ที่เป็นดาราดัง คนที่มีชื่อเสียง การ์ตูน ในส่วนของเนื้อหาในโฆษณามุ่งเน้นเรื่องการส่งเสริมให้บริโภคเกินความจำเป็น การบริโภคแทนอาหารมื้อหลัก การใช้คำที่ทำให้รู้สึกว่าราคาถูกลง และเนื้อหาส่อไปในทางเพศซึ่งไม่เหมาะสมกับเด็ก นอกจากนี้ การสื่อสารการตลาดดังกล่าวเป็นการส่งเสริมให้เด็กเกิดความต้องการบริโภค ในขณะที่กฎหมายควบคุมการโฆษณาที่มีอยู่ในปัจจุบันก็ไม่ครอบคลุมการสื่อสารการตลาดที่มีรูปแบบและเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก นงนุช จินดารัตนาภรณ์ หัวหน้าโครงการฯ กล่าว
ด้าน รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์เชี่ยวชาญทางด้านเด็กและวัยรุ่น เสริมว่า จากการที่เคยทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน พบว่า คนไทยบริโภคน้ำตาล 20 ช้อนชาต่อคนต่อวัน โดยที่ไม่ควรบริโภคเกิน 6 ช้อนชา ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากการโฆษณา โดยส่วนใหญ่โฆษณาที่เชิญชวนให้บริโภคมักเป็นอาหารที่พลังงานสูง เช่น หวาน มัน เค็ม แซ่บ น้อยมากที่จะมีโฆษณาในอาหารที่มีคุณภาพ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช การสื่อสารการตลาดมีผลกระทบต่อคนดูอย่างแน่นอน ยิ่งปัจจุบันนี้โฆษณามีการใช้กลยุทธ์และมีเทคนิคลูกเล่นแพรวพราวที่เชิญชวนให้เกิดการบริโภค ทำให้เด็กหลงกลได้ง่าย โดยเฉพาะเด็กในวัยเรียนก็ยังถูกล่อลวงเมื่อรับข้อมูลจากการสื่อสารการตลาด เพราะเด็กไม่สามารถสร้างระบบการรู้เท่าทันได้แข็งแรงพอและไม่มีหลักคิดและวิจารณญาณได้ดีเท่าผู้ใหญ่ ดังนั้น เด็กจึงตกเป็นเหยื่อของกลยุทธ์การสื่อสารการตลาดดังกล่าว และส่งผลต่อพฤติกรรมอย่างแน่นอน ถึงเวลาแล้วที่ต้องเอาจริงเอาจังกับปลูกจิตสำนึกผู้ผลิตสื่อให้มีการผลิตสื่ออย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย และมาตราการที่ควรนำมาใช้เพื่อปกป้องคุ้มครองเด็ก เยาวชน และครอบครัว คือ 1. การสร้างการรู้เท่าทันสื่อให้กับประชาชนกลุ่มดังกล่าว 2. การสร้างความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่าย เพื่อติดตามเฝ้าระวัง การสื่อสารการตลาดอาหารบนเฟซบุ๊ก และ 3. การสร้างเสริมสุขภาวะด้วยการเพิ่มเนื้อหาดีๆ ในสื่อ เฟซบุ๊ก
ส่วนดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ประธานคณะทำงานติดตามและประเมินผลโครงการหรือกิจกรรมด้านเฝ้าระวังและรู้เท่าทัน กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า สื่อเป็นปัจจัยแวดล้อมที่สำคัญในการเรียนรู้ของเด็ก เด็กใช้เวลากับสื่อมาก การโฆษณาการสื่อสารการตลาดจึงมีผลกระทบต่อทัศนคติและพฤติกรรมของเด็กเยาวชนมากด้วยเช่นกัน หากอยากเห็นสังคมเป็นแบบไหนก็ดูที่ปัจจัยแวดล้อมที่หล่อหลอมเด็กเยาวชน ทุกฝ่ายต้องช่วยกันสร้างสังคมของเราให้ก้าวไปข้างหน้า อยากเห็นคนทำโฆษณาที่มีจิตสำนึกไม่มุ่งแต่กำไรจนไม่สนใจผลที่เกิดขึ้นต่อเด็ก หน่วยงานกำกับดูแลโฆษณา ทั้งสมาคมวิชาชีพและภาครัฐ ต้องให้ความสำคัญกับการดูแลเรื่องการสื่อสารการตลาดและการโฆษณาที่เข้าถึงเด็ก ต้องมีหลักเกณฑ์ควบคุมการโฆษณาและการสื่อสารการตลาดสำหรับเด็กเป็นการเฉพาะ และควรมีการพัฒนาองค์ความรู้ในการสื่อสารอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ ถึงเวลาที่ทุกฝ่ายควรจะร่วมกันพัฒนาอนาคตของชาติ
#######