วันที่ 2 ก.ค. 2563 ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมคณะทำงานภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ โดยมี ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม เพื่อติดตามความหก้าวหน้าการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรี การดำเนินการรองรับสถานการณ์ฤดูฝนปี63 รวมทั้งการสำรวจปริมาณผักตบชวาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายของลำน้ำ ณ ห้องประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ชั้น 4 อาคารจุฑามาศ กรุงเทพมหานคร
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำว่าปัจจุบัน 2ก.ค.63อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศจำนวน 447 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 32,061 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ42 ของความจุอ่างฯ เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 8,411 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ และป่าสักฯ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 7,623 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 31 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 927 ล้าน ลบ.ม. ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูฝนปี 63 ข้อมูล ณ วันที่ 1 ก.ค. 63 ทั้งประเทศจัดสรรน้ำไปแล้ว 4,611 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 39 ของแผน เฉพาะลุ่มเจ้าพระยา จัดสรรน้ำไปแล้ว 1,604 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 49 ของแผน ผลการเพาะปลูกข้าวนาปี ปี 63 ในเขตชลประทาน ข้อมูล ณ วันที่ 1 ก.ค.63 ทั้งประเทศเพาะปลูกแล้ว 6.71 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 40 ของแผน เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพาะปลูกแล้ว 2.51 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 31 ของแผน
ถึงแม้ว่าปัจจุบันกรมอุตุนิยมวิทยาจะประกาศเข้าสู่หน้าฝนอย่างเป็นทางการแล้วก็ตาม แต่ปริมาณฝนที่ตกยังคงไม่เพียงพอในหลายพื้นที่ จึงขอความร่วมมือเกษตรกรปฏิบัติตามคำแนะนำในการเพาะปลูกพืชเพื่อลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหาย สำหรับการเตรียมความพ้อมรับมือสถานการณ์น้ำหลากในช่วงฤดูฝนปี 63 กรมชลประทาน ได้วางแนวทางการรับมือ ด้วยการกำหนดคนรับผิดชอบแต่ละพื้นที่ กำหนดพื้นที่เสี่ยง กำหนดเครื่องจักรเครื่องมือให้พร้อมใช้ทุกพื้นที่ นอกจากนี้ยังดำเนินการสำรวจสิ่งกีดขวางทางน้ำต่างๆ พร้อมดำเนินการกำจัดผักตบชวาและวัชพืชตามลำน้ำ โดย กรมชลประทาน มีพื้นที่รับผิดชอบในการกำจัดวัชพืชในลุ่มน้ำเจ้าพระยารวมทั้งสิ้น 17 จุดปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมด
ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะดำเนินการบริหารจัดการน้ำตลอดฤดูฝน ปี 2563 โดยวางแผนและจัดสรรน้ำเพื่อให้ประชาชนได้มีน้ำกินน้ำใช้อย่างเพียงพอ เก็บกักปริมาณน้ำให้มากที่สุด เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูแล้งหน้าได้อย่างไม่ขาดแคลน
…………………………………………………………