กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำตำรายาของประเทศไทย Thai Pharmacopoeia ผ่าน Mobile Application เพื่อเป็นการสนองนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาลและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้งานให้ได้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักยาและวัตถุเสพติด ได้เพิ่มช่องทางเพื่อเข้าถึงข้อมูลในตำรา “Thai Pharmacopoeia II Volume I Part 1 (2020) และ Thai Pharmacopoeia II Volume I Part 1 Supplement 2020” และได้เปิดให้ดาวน์โหลดใช้งานฟรีได้ในระบบ Android ส่วนระบบ IOS อยู่ระหว่างดำเนินการ และทางเว็บไซต์สำนักยาและวัตถุเสพติด https://bdn.go.th/tp/#home เมื่อต้นปี พ.ศ.2563 ที่ผ่านมานั้น ซึ่งแอพพลิเคชั่นดังกล่าวมีผู้สนใจใช้กันจำนวนมาก เนื่องจากมีความสะดวก อยู่ที่ใดก็สามารถเข้าถึงข้อมูลได้
ทั้งนี้ Thai Pharmacopoeia II Volume I Part 1 เป็นตำรายาที่อยู่ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ปี พ.ศ.2561 เรื่อง ระบุตำรายา ประกอบด้วย ข้อกำหนดมาตรฐานของยาแผนปัจจุบันที่เป็นกลุ่มยา Antibacterial, Antimalarial (Antiprotozoal) และ Anti-emetic รวม 128 มอโนกราฟ และกลุ่มยา Biological products ที่ประกอบด้วย Human Blood and Blood Products, Antisera และ Vaccines เช่น House Dust Mite Allergen Vaccine (วัคซีนไรฝุ่น) รวม 73 มอโนกราฟ และภาคผนวก อีกกว่า 142 เรื่อง
นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อว่า แอพพลิเคชั่นดังกล่าวยังบรรจุ Thai Pharmacopoeia II Volume I Part 1 Supplement 2020 ที่จัดทำล่าสุด ซึ่งประกอบด้วยข้อกำหนดมาตรฐานของยาพัฒนาจากสมุนไพร 2 มอโนกราฟ ได้แก่ สารสกัดกัญชา (Cannabis Extract) และน้ำมันกัญชาหยอดใต้ลิ้น (Cannabis Sublingual Drops) ซึ่งเป็นมอโนกราฟใหม่ ที่ยังไม่มีบรรจุอยู่ในตำรายาเล่มใดในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุตำรายา พ.ศ.2561 และปรับปรุงภาคผนวก เช่น การตรวจโลหะหนักในยาสมุนไพร (Heavy Metals in Herbal Drugs and Herbal Drug Preparations) สารตกค้าง ที่เป็นยากำจัดศัตรูพืช (Pesticide Residues) ให้มีวิธีทดสอบที่ทันสมัยและมีข้อกำหนดที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
“ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการควบคุมคุณภาพยาแผนปัจจุบัน และยาพัฒนาจากสมุนไพรในประเทศให้ได้มาตรฐานสากล ปลอดภัยต่อผู้ใช้ รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นต่อบุคลากรทางการแพทย์และผู้บริโภคในการใช้ยาแผนปัจจุบัน และยาพัฒนาจากสมุนไพร นอกจากนี้ยังช่วยยกระดับอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศให้มีมาตรฐานสากล อีกทั้งเป็นตำราอ้างอิงด้านการควบคุมคุณภาพยาสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นิสิต นักศึกษาและผู้สนใจ” นายแพทย์โอภาส กล่าว
……………………………………………………………………….