งานปักภาพมงคล สื่อความรู้สึกจากผู้ให้ถึงผู้รับ ภาพที่ได้รับการลงฝีจักรด้วยความประณีตละเอียดบรรจง ตามลวดลายที่ได้รับการออกแบบอย่างพิถีพิถันและการกำหนดสีเส้นด้าย เพื่อให้ภาพที่ออกมามีสีสันสวยงาม
ทั้งหมดเป็นงานที่มาจากความชอบในงานปักแบบสวยๆ และงานไทยๆ รวมทั้งของสวยๆ งามๆ จึงอยากทำงานปักและส่งต่อให้สามารถโกอินเตอร์ได้…
นั่นคือเรื่องราวที่เกิดขึ้นช่วง 5 ปี ที่ผ่านมาของผู้ประกอบการคุณภัทร์มณฉัตร เทศดีบริบูรณ์ หรือ “คุณเอื้อง” กรรมการผู้จัดการบริษัท ไอบุญศิลป์ จำกัด ซึ่งออกจากงานมาเลี้ยงลูก ทำงานเป็นคณะกรรมการสหกรณ์ และทำสวน ทำฟาร์มเห็ด แต่ก็มีความสนใจที่จะนำงานที่ชอบมาทำเป็นงานที่เป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมา
“ตอนนั้น (ประมาณปี 2555) มีแค่ความสนใจ อยากโกอินเตอร์ แต่ยังไม่ได้ทำอะไรเลย เลยโทรศัพท์เข้าไปที่ สสว.ที่กรุงเทพฯ เล่าให้ฟังว่าเราทำงานแบบนี้ และงานไทยๆ แบบนี้ เราอยากขายไปต่างประเทศ พี่ที่ สสว.เลยแนะนำให้เราไปจดนิติบุคคล”
หลังจากวันนั้นที่ได้คุยกับ สสว.ไปแล้ว อีก 1 ปีต่อมาคุณเอื้องได้ย้ายจากจังหวัดจันทบุรีมาอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ช่วงเวลาระหว่างนั้นก็เหมือนกับการฝึกทำงาน ฝึกสร้างแบบ ตีบล็อก ความรู้ที่นำมาใช้ในการทำงานทุกวันนี้ เธอแสวงหา เรียนรู้เอง ไม่มีการจัดอบรมใดๆ แต่หากอยากเรียนรู้อะไรเพิ่มเติม ก็จะมีการเปิดสอนวันละ 3,500 บาท แต่เธอก็ไม่ได้เรียน ใช้วิธีจ้างทำเลย โดยเรียนรู้ สอบถามหาข้อมูล จากผู้ที่รับจ้าง และนำกลับมาลองทำดูบ้าง
คุณเอื้องเริ่มจากงานปักจักรเลย เพราะรู้สึกว่าเร็วและตอบสนองความต้องการได้เร็วมาก ไม่ว่าจะคิดอะไร จักรก็จะจินตนาการออกมาตามความคิดของเธอได้
การเริ่มต้นธุรกิจของตนเอง สำหรับคุณเอื้องแล้วก็ไม่แตกต่างจากผู้ประกอบการรายอื่นๆ คิดว่ายากทุกอย่างเลย นั่นล่ะปัญหาอุปสรรค ทั้งการสร้างบล็อก สร้างลาย อย่างลายมังกรที่งามวิจิตรการจะทำให้สวย ต้องใช้ประสบการณ์ เพราะความซับซ้อนของงานปัก ลายภาพจะมีพื้น มีเกล็ด ขอบ ทุกอย่างต้องได้รับการวางแผนจัดเรียงให้สวย ภาพจึงจะออกมาสวยงาม ส่วนจักรซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงานนั้น เธอบอกว่าก็ต้องเรียนรู้การทำงานของจักรด้วยเหมือนกัน ความกว้าง ขนาด ของแบบที่ส่งเข้าไปจะเกินหน้าจักรหรือไม่ ต้องกะประมาณให้ถูกต้อง การตั้งค่าสีของการปักก็ต้องให้ตรงตามที่กำหนดไว้
เรียกว่า ปัญหา อุปสรรคมีเยอะ!!!
ผลิตภัณฑ์งานปักภาพมงคลที่ทำออกมา ช่วงแรกเป็นงานภาพมงคลเสริมฮวงจุ้ย แรกที่ทำตอนนั้นยังอยู่ที่จังหวัดจันทบุรีคุณเอื้อง ลองนำผลงานออกมาทดสอบตลาดดูการตอบรับของกลุ่มลูกค้า โดยนำมาขายที่ตลาดจตุจักร-มีนบุรี ตอนนั้นเป็นช่วงปลายปีใกล้ปีใหม่ ผู้คนต้องการหาของฝากของที่ระลึก นำไปมอบให้แก่กันทำให้งานปักภาพมงคลได้รับการตอบรับที่ดี
แต่ตอนนั้น…ทั้งผลิตและขาย คุณเอื้องยังทำอยู่คนเดียว
“ด้านการขายจะมีพนักงานขายมารับสินค้าจากเราไปขายแต่เป็นพวกจับเสือมือเปล่า เราเคยมีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับการฝากขายเพราะคนที่มารับสินค้าของเราไปขาย เขาสามารถขายได้ แต่ไม่ได้โอนเงินกลับมาให้เรา เลยรู้สึกเจ็บใจ คิดว่าถ้าเป็นอย่างนี้ให้สินค้าอยู่ที่ร้านเราดีกว่า อีกอย่างการฝากขายทำให้รู้สึกว่าเราต้องไปง้อเขาเลยไม่อยากขายด้วยการฝากขาย”
ผลงานการปักจักรภาพมงคลของคุณเอื้องมีความสวยงามและลักษณะเฉพาะ ทำให้ได้รับความสนใจมีน้องๆ ต้องการนำภาพไปเสนอขายให้กับหน่วยงานต่างๆ โดยเธอยินดีให้ค่าตอบแทนด้วยส่วนหนึ่ง กรณีที่สามารถขายงานได้
แต่ปัญหาที่ทำให้งานปักภาพมงคลไปไม่ถึงจุดนั้นก็คือ การถ่ายภาพสินค้ายังไม่สวย ไม่เหมือนของจริง เมื่อนำมาทำอัลบั้มภาพจึงไม่สวย ซึ่งเธอบอกว่าตรงนี้ก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่ง และเธอเองก็ยุ่งกับงานหน้าร้านด้วย จึงคิดแก้ไขด้วยการจ้างถ่ายภาพ แต่ภาพที่ออกมาก็ยังไม่สวย เธอเลยไปเรียนถ่ายภาพวิดีโอ พร้อมกับสั่งอุปกรณ์ที่จำเป็นจาก Lazada เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงาน
การทำงานในทุกวันนี้ คุณเอื้องบอกว่าคนที่ทำงานด้านนี้จำเป็นต้องมีความรู้ในงานที่ทำด้วย เวลาคุยงานกันจะได้รู้เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฝีเข็ม ผ้า การเลือกสี ส่วนหนึ่งเธอเลือกที่จะส่งงานให้บริษัทที่เป็นพันธมิตรช่วยดำเนินการ และในเรื่องนี้เธอก็ไม่กลัวการลอกเลียนแบบหรือก๊อปปี้ เพราะแต่ละลายที่ทำขึ้นมาในช่วงต่างๆ นั้นเธอไม่ได้คิดที่จะทำลายเดิมๆ ซ้ำๆ แต่จะออกแบบลวดลายใหม่ๆ ทำให้ผลงานมีความหลากหลาย
“ถ้าถามว่ากลัวการลอกเลียนมั้ย ก็กลัว แต่จริงๆ แล้ว เราก็ไม่ได้คิดว่าจะทำลายนี้ตลอด เราหนีด้วยการออกแบบลวดลายใหม่ๆ อยากก๊อปก็ก๊อปไป เพราะของพวกนี้ห้ามกันไม่ได้อยู่แล้ว แต่งานของเราจะไม่ซ้ำ คอลเลคชั่นของเราจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ”
ในการสร้างงานคุณเอื้องได้แรงบันดาลใจจากความชอบส่วนตัวซึ่งชอบดูแฟชั่นโลก แต่ขณะเดียวกันก็ดูผลงานรอบๆ ตัวของคนอื่นๆ ด้วย อย่างเธออยากทำกระเป๋าก็จะหาข้อมูลว่ากระเป๋าทรงไหนที่ผู้หญิงทั่วโลกกำลังนิยม เธอสังเกตแม้แต่กระเป๋าที่ผู้นำประเทศต่างๆ ชอบ
“แฟชั่นมาแบบนี้ก็ต้องดูตรงนี้ ลวดลายก็ดูเทรนด์สี แต่ละปีจะเป็นสีโทนอะไร ต้องนำข้อมูลมาปรับใช้หมด แต่แรงบันดาลใจก็อยู่ใกล้ๆ ตัวนี้เอง”
สำหรับใครที่หาข้อมูลของไอบุญศิลป์ ผ่านโลกออนไลน์ จะพบกับ https://www.facebook.com/Ibunsin/ ทำให้ได้รู้ข้อมูลอีกมุมหนึ่งของไอบุญศิลป์เกี่ยวกับการให้บริการปักจักร ซึ่งถือเป็นงานหลักเลยทีเดียว
“เรามีบริการรับปักโลโก้ที่เสื้อด้วย ซึ่งอันนี้ถือเป็นงานหลักของเราเช่นกัน ทุกเรื่องที่เป็นงานปักทั้งการปักเสื้อ ปักหมวกตราสัญลักษณ์ต่างๆ เรารับทำหมดเลย บางทีลูกค้าก็นำงานมาปักกับเราและนำกลับไปขายต่ออีกทีหนึ่ง”
การพัฒนาธุรกิจกับภาครัฐภายใต้กิจกรรมการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์กับศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 9กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในปี 2560 บริษัท ไอบุญศิลป์ จำกัด ได้ทำงานร่วมกับที่ปรึกษาของสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม – คุณศิริชัย ลีศิริเจริญทรัพย์ โดยได้พัฒนาของประดับตกแต่งบ้าน Great Thai Art Wall ซึ่งที่ปรึกษาได้ให้คำ แนะนำในการทำลวดลายแบบไทยๆ ประกอบด้วย ภาพยักษ์ เลข 9 ไทย หน้าพระพุทธรูป และเรือสุพรรณหงส์ แต่ละภาพสามารถนำมาจัดเป็นชุด4 ภาพ ได้ตามต้องการ และลวดลายแต่ละแบบยังนำไปปักลงบนเสื้อหรืออื่นๆ เพื่อสร้างสรรค์สินค้าในรูปแบบใหม่ๆ ได้
“ผู้ประกอบการมีความชำนาญในการปัก เพราะรับปักผ้าโลโก้ ให้กับองค์กรต่างๆ แต่ก็พบว่างานด้านนี้มีการแข่งขันเรื่องราคาค่อนข้างสูง โดยเฉพาะกับบริษัทใหญ่ๆ ที่มีความพร้อมกว่าทั้งเครื่องจักรและแรงงาน ซึ่งแรกทีเดียวผู้ประกอบการอยากทำสินค้าแนวแฟชั่น แต่ก็อาจจะต้องแข่งกับโรงงานใหญ่ๆ เช่นกัน การทำงานปักจักรโดยส่งภาพเข้าคอมพิวเตอร์ แล้วปักออกมาเป็นภาพนั้นผู้ประกอบการบอกว่าความยากอยู่ที่การให้สี ซึ่งจากการประเมินพบว่าโดยส่วนตัวผู้ประกอบการมีฝีมือ และไอเดียในการปักผ้าสามารถครีเอทภาพออกมาได้ อย่างสิงโตก็จะเป็นสิงโตแบบทรงเครื่องหรือสิงโตนักรบ เป็นข้อดีที่ทำให้งานมีความหลากหลาย
ในกิจกรรมนี้ได้แนะนำให้ผู้ประกอบการทำของประดับตกแต่งบ้าน Great Thai Art Wall โดยออกแบบปักด้วยสีเดียวทำเป็นเซตๆ ละ 4 ภาพ ซึ่งหลายคนอาจมองว่าภาพแนวนี้ทำง่ายใครๆ ก็ทำได้ แต่การเข้าร่วมออกร้านในงานของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 9 และงานที่ทำขึ้นมานั้นสามารถขายได้เป็นเซตทำให้ผู้ประกอบการมองเห็นแนวทางในการพัฒนางานปักที่ไม่จำเป็นต้องอลังการหรือปักมากสี แต่เน้นความเรียบง่ายที่สวย
สำหรับการเข้าร่วมงาน BIG + BIH October 2017 อยากให้ผู้ประกอบการเปิดตลาดด้วยคอลเลคชั่นใหม่ Great Thai Art Wallเพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีฝีมือในการปัก ในช่วงแรกๆ ได้แนะนำให้ผู้ประกอบการทำภาพที่เหมาะกับทุกตลาด ใช้ได้ทั่วไปยังไม่เจาะตลาดไหนๆ เช่น ภาพเด็ก ภาพแนวโมเดอร์น ภาพสัตว์ซึ่งทุกคนสามารถซื้อได้ แต่ในอนาคตก็ได้วางแนวทางในการทำงานร่วมกันว่าคงจะต้องเจาะจงว่าเราจะทำภาพมาขายให้ใคร เช่น ภาพสำหรับชาวตะวันออกกลางชาวจีนที่มาอยู่ในเมืองไทย ภาพศิลปะของต่างชาติ ซึ่งเราสามารถใช้เทคนิคของการปักสื่อสารไปกับภาพได้”
การเข้าร่วมกิจกรรมการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ยังเป็นโอกาสให้ไอบุญศิลป์ได้เข้าร่วมออกบูธในงาน Thailand Industry Expo 2017 ระหว่างวันที่ 25-30กรกฎาคม 2560 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี พร้อมทั้งได้รับมอบเกียรติบัตรจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อแสดงว่าผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า ร่วมทดสอบผลิตภัณฑ์และเชื่อมโยงตลาด ภายใต้โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ปี 2560
อีกหนึ่งความเชื่อมั่นในผลงานการปักจักรของไอบุญศิลป์ที่ได้รับการยอมรับก็คือ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้มอบหมายให้ไอบุญศิลป์จัดทำ เสื้อ-ของฝาก ของที่ระลึกจากแปดริ้วโดยนำมาสคอตมาออกแบบผสมผสานกับอัตลักษณ์ของจังหวัด รวมทั้งการเปิดร้านจำหน่ายสินค้าจากฉะเชิงเทราของสมาพันธ์ฯ ก็ให้ไอบุญศิลป์รับผิดชอบของฝากของที่ระลึกประเภทเสื้อ
และคุณเอื้องยังมีกำหนดที่จะนำผลงานภาพปักจักรและผลงานที่พัฒนาขึ้นใหม่ไปนำเสนอแก่นักธุรกิจและผู้สนใจในงาน BIG +BIH October 2017 งานแสดงสินค้าของขวัญและของใช้ของตกแต่งบ้านระหว่างวันที่ 17-21 ตุลาคม 2560 ณ Hall 99-104 Bitec บางนา
สำหรับการทำงานหรือผลิตสินค้าที่ต้องมีงานปักเป็นส่วนประกอบ ผู้ประกอบการสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคุณเอื้องได้ ทั้งในงานต่างๆ ช่องทางออนไลน์ และที่หน้าร้าน
“ปักธรรม นำชีวิต ปักงานวิจิตร ต้องไอบุญศิลป์เท่านั้น”
ไอบุญศิลป์ เป็น 1 ใน 18 ผู้ประกอบการในพื้นที่ดำเนินงานของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 9 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมที่สมัครเข้าร่วมกิจกรรมการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์และนำเสนอความพร้อมต่อคณะกรรมการเพื่อรับการคัดเลือกเข้าร่วมกิจกรรมให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกด้านการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์
การนำเสนอความพร้อมของ คุณภัทร์มณฉัตร เทศดีบริบูรณ์ ต่อคณะกรรมการ นับเป็นครั้งแรกที่ทำให้เราได้รู้จักกับไอบุญศิลป์
ไอบุญศิลป์เป็นธุรกิจที่จดทะเบียนนิติบุคคลรูปแบบบริษัทมีที่ตั้งสถานประกอบการอยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา พนักงานหลักคือตัวผู้ประกอบการเอง แต่ก็มีแรงงานเป็นคนในครอบครัวและญาติๆ ช่วยทำงานอีก 2-4 คน ผลิตภัณฑ์หลักของไอบุญศิลป์ คือการให้บริการปักอาร์ม โลโก้ ตราสัญลักษณ์ เสื้อต่างๆ รวมทั้งภาพจากงานปักจักร
การเข้าร่วมกิจกรรมการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ผู้ประกอบการมีความตั้งใจที่จะพัฒนาแบรนด์ “เอื้องแก้ว” สำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยการพัฒนางานปักจักรให้เป็นแนวแฟชั่น ประเภทงานกระเป๋าปัก รองเท้าปัก หมวกปัก ทำให้เป็นคอลเลคชั่น รวมถึงการพัฒนาของใช้ประเภทซองใส่แว่นตา กระเป๋าแท็บเล็ต เป็นต้น
การคิดสร้างสรรค์ลวดลายเพื่อทำงานปักจักร ผู้ประกอบการจะศึกษารูปแบบงานที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศ และนำมาดัดแปลง โดยนำลวดลายที่ชอบมาผสมผสานสร้างเป็นชิ้นงานขึ้นมากขั้นตอนในการทำงานคุณภัทร์มณฉัตร จะลงมือทำเอง ทั้งการเขียนโปรแกรม ตีบล็อค ทำแพทเทิร์น ดีไซน์ แต่จะจ้างเย็บอีกที
เป้าหมายของไอบุญศิลป์ในอีก 2 ปีข้างหน้า คุณภัทร์มณฉัตรวางแผนจะพัฒนาทั้งแบรนด์เก่า “ไอบุญศิลป์” และแบรนด์ใหม่ “เอื้องแก้ว” ไปพร้อมๆ กัน และอยากทำโปรไฟล์ภาพผลงานสำหรับให้ผู้สนใจนำไปขายตามบริษัทและหน่วยงานต่างๆ ด้วย
ผู้ประกอบการ: คุณภัทร์มณฉัตร เทศดีบริบูรณ์
กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอบุญศิลป์ จำกัด
181/3 ต.หน้าเมือง อ.เมืองฉะเชิงเทรา จ.ฉะเชิงเทรา
โทร. 095-562-4592
E-mail: putmonchut@gmail.com